
จากการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (มสป.) ในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบางในพื้นที่ พบว่าในกระบวนการทำงานร่วมกับคณะทำงานในชุมชน ส่ิงหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการเยี่ยวยาจิตใจ และการส่งเสริมพลังในตนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบาง ดังนั้นบทความนี้จึงของนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเยี่ยวยาจิตใจ (Psychological Healing) เขียนโดย พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ดังนี้ค่ะ
การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ สามารถแบ่งระยะและความต้องการเยียวยาของผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้ ในระยะฉุกเฉิน เน้นกลุ่มผู้บาดเจ็บต้องการความช่วยเหลือในการเยียวยาด้านร่างกาย ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเหตุการณ์หรือภัยธรรมชาติสิ้นสุดลงแล้วเข้าสู่ความปลอดภัยในระยะหลังระยะฉุกเฉิน เน้นเยียวยากลุ่มประชาชนในพื้นที่ซึ่งต้องสำรวจผลกระทบทางกาย จิตและสังคมทุกด้าน และหาวิธีการเพื่อตอบสนองความต้องการด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตอย่างรวดเร็วที่สุด และระยะฟื้นฟูเป็นการฟื้นคืนความปกติทางด้านสังคมและจิตใจผู้ได้รับ ผลกระทบให้คืนสู่ความปกติสุข ในระยะนี้เน้นสังคมเป็นสำคัญ

การปฐมพยาบาลทางจิตใจ (PFA: Psychological First Aid) บุคลากรทางการแพทย์หรืออาสาสมัครที่ได้รับการอบรมสามารถนำมาใช้สำหรับการเยียวยาจิตใจในทุกกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่บาดเจ็บทางกาย ด้วยหลักการที่ครอบคลุมการช่วยเหลือ 4 ประการ คือ EASE
• E: Engagement
การเข้าถึงผู้ได้รับผลกระทบด้วยการมีหัวใจบริการเพื่อการสร้างสัมพันธภาพ
• A: Assessment
การประเมินที่ครอบคลุมกาย จิตสังคม โดยทางด้านจิตใจจะครอบคลุมทุกความเสี่ยงทางจิตเวชที่พบหลังการพบเหตุการณ์วิกฤตหรือภัยพิบัติ ได้แก่ PTSD, Adjustment Disorder , Anxiety Disorder, Depressive Disorder
• S: Skills
การมีทักษะในการลดวิกฤติทางอารมณ์โดยเรียกขวัญคืนสติ (เช่น สัมผัส บอกภาวะปัจจุบัน) ลดความเจ็บปวด (โดยการตั้งใจฟังและสะท้อนความรู้สึกอย่างมืออาชีพactive listening) และเสริมสร้างทักษะการเผชิญและแก้ปัญหา (Coping Skills)
• E: Education
การให้สุขภาพจิตศึกษาเพื่อให้กลับมาดำรงชีวิตตามปกติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและความช่วยเหลือต่างๆ เช่น ค่าชดเชย การงานอาชีพ เป็นต้น
ประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับบาดแผลทางใจจากเหตุการณ์ เช่น การบาดเจ็บ การเป็นพยานหรืออยู่ร่วมเห็นผู้อื่นถูกทำร้าย บ้านเรือนหรือทรัพย์สินเสียหาย เผชิญกับภาวะเพลิงไหม้ ขาดแคลนน้ำ ขาดอาหาร ล้วนมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนในชุมชน ทั้งระยะสั้น กลางและยาว การเยียวยาประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบหมู่มากใช้ หลักการจัดการภาวะบาดแผลทางใจหมู่ ที่มีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ SCECH
• S: Safe
ให้ประชาชนของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือจลาจลเข้าสู่สถานที่ที่ปลอดภัย ให้ข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมโยงให้ประชาชนเข้าถึงความปลอดภัย โดยเป็นข่าวสารที่เป็นจริง ไม่ใช่แค่การโฆษณาชวนเชื่อ
• C: Calm
การทำความเข้าใจกับประชาชนว่าเมื่อเผชิญสถานการณ์ที่รุนแรง คนเราก็จะมีความรู้สึก เช่น กลัว กังวล โกรธ สับสน อารมณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเสมอเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ต้องตั้งสติ ทำใจให้สงบ โดยวิธีง่ายๆ เช่น หายใจเข้าออกลึกๆ สวดมนต์ อธิษฐานนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ตนเคารพ รวมทั้งการปลอบใจซึ่งกันและกัน ควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลข่าวสารตามความเป็นจริง ถึงความพยายามของฝ่ายต่างๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือ และระมัดระวังข่าวลือที่เข้ามาสร้างความตระหนกตกใจโดยไม่มีรากฐานความเป็นจริง
• E: Empowerment
การสร้างพลังในชุมชนด้วยการเสริมความเข้มแข็งทุกทางในชุมชน เพื่อดูแลความปลอดภัย สื่อสารกับคนในชุมชน และกับภายนอกในการนำความช่วยเหลือและข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง จุดสำคัญอยู่ที่การจัดกลุ่มภายในชุมชนที่มีอยู่ให้เข้มแข็ง ยิ่งขึ้น เช่น กรรมการชุมชน อาสาสมัครในชุมชน รวมทั้งในระยะต่อไปที่จะต้องมีการระดมทรัพยากรและความช่วยเหลือในการฟื้นฟูชุมชน ทั้งด้านบ้านเรือน อาชีพ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
• C: Connectedness
การสร้างความผูกพัน เชื่อมโยงกันในชุมชนจะช่วยให้ประชาชนเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากภัยพิบัติได้ดีขึ้น โดยอาศัยกิจกรรมต่างๆ เช่น การประชุมหารือ กิจกรรมของวัดและศาสนสถาน การจัดการอาสาสมัครมาช่วยดูแลครอบครัวที่มีความยากลำบาก เช่น มีเด็กเล็ก คนป่วย ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และหากมีการอพยพออกนอกชุมชนก็ควรรักษาความเป็นชุมชนเดียวกัน และกิจกรรมที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
• H: Hope
การมองไปข้างหน้าที่จะทำให้ชีวิตกลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยการให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องด้วยการมีชีวิตปกติ เช่น การซ่อมบ้าน การฟื้นฟูอาชีพ เป็นต้น โดยต้องทำอย่างรวดเร็วและให้องค์กรในชุมชนเข้ามีส่วนร่วมให้มากที่สุด
สำหรับประชาชนทั่วไปที่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีผลต่อสภาพจิตใจที่แตกต่างกันโดยเฉพาะในภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์จะมีความซับซ้อนอารมณ์ที่ตอบสนองแตกต่างจากภัยพิบัติ ทางธรรมชาติที่เมื่อรับรู้ข่าวสารแล้วมักจะเห็นใจและยินดีสนับสนุนการช่วยเหลือด้านต่างๆ การเยียวยาประชาชนทั่วไปมักเป็นประเด็นสำคัญในภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์ที่อาจมี ความแตกต่างทางความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใช้ หลักการดูแลจิตใจโดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับบุคคล ครอบครัว (รวมเด็กและเยาวชน) ชุมชน
• ในระดับบุคคล ควรมีหลักปฏิบัติที่สำคัญ คือ
1) บริหารเวลาให้เหมาะสม โดยแบ่งเวลาในการติดตามข่าว การดูแลครอบครัว การทำงาน และการพักผ่อน สำหรับการติดตามข่าวไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 ชม.
2) ลดการรับข้อมูลข่าว ควรรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่สะท้อนความคิดที่หลากหลาย และมุ่งเน้นการหาทางออก
3) มีวิธีการลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย สวดมนต์ ทำสมาธิ
4) มีความหวัง ด้วยการคิดบวก พูดบวกและทำบวก
• ระดับครอบครัว บุคคลใกล้ชิดและสมาชิกในครอบครัวควรมีหลักปฏิบัติที่สำคัญ คือ
1) รับฟัง ไม่ควรโต้แย้ง หรือหลีกเลี่ยงไม่พูดคุย เพราะไม่ได้ช่วยลดอารมณ์ลง ทางที่ดีที่สุด คือ การรับฟัง ด้วยความเห็นใจว่าเขามีความเครียด
2) ชื่นชม ควรแสดงความชื่นชมในประเด็นที่ดีของเขา ก็จะทำให้เกิดการยอมรับกัน และนำไปสู่ความไว้วางใจ และช่วยให้เขาอารมณ์เย็นลงได้
3) ห่วงใย การแสดงความเป็นห่วงใยต่อสุขภาพตนเองและคนใกล้ชิด
4) การให้คำแนะนำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดแต่ควรมาลำดับท้ายสุด ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดการยอมรับจากการรับฟัง ชื่นชม และห่วงใยแล้ว
• สำหรับครอบครัวที่มีเด็กและเยาวชน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏภาพและเสียงของความรุนแรง จะมีผลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน จึงควรมีแนวทางที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย กล่าวคือ
1) ในเด็กเล็กก่อนวัยเรียน เด็กวัยนี้ไม่สามารถเข้าใจความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ จึงให้เขาทำกิจกรรมตามวัย เช่น วิ่งเล่น อ่านหนังสือ
2) ในเด็กวัยเรียน เด็กกลุ่มนี้สามารถเข้าใจเรื่องความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารร่วมกับพ่อแม่ได้บ้าง แต่ไม่เท่ากับผู้ใหญ่ เช่น อนุญาตได้วันละ 1 ชม. ที่เหลือก็สนับสนุนให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างรับรู้ข้อมูลข่าวสารก็ควรอธิบายให้เด็กฟังว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะคนเราแม้จะขัดแย้งกันก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง
3) ในเด็กวัยรุ่น วัยรุ่นสามารถมีวิจารญาณในการใช้เวลาและตีความข้อมูลข่าวสารด้วยตนเอง บทบาทพ่อแม่ก็คือรับฟังความคิดเห็น เน้นการยอมรับความเห็นอีกฝ่าย และแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีซึ่งจะทำให้ผู้ใหญ่เป็นต้นแบบให้เยาวชน พัฒนาขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ
• ในระดับชุมชน ควรส่งเสริมให้ชุมชนมีการสานเสวนาผ่านกระบวนการ A – I – C จะช่วยให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม ในการวางแผนและการตัดสินใจ ร่วมสร้างความเข้าใจในการดำเนินงาน สร้างการยอมรับ ความรับผิดชอบในฐานะ สมาชิกของชุมชน เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ และเกิดความภาคภูมิใจในผลงานที่ตนมีส่วนร่วมและนำพาพลังชุมชนสมานฉันท์มุ่งสู่อนาคต
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaifamilylink.net