เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (มสป.) ได้จัดกิจกรรมพบกลุ่มเด็ก โดยเด็กกลุ่มนี้ชื่อว่า กลุ่ม “ปันปัน” กลุ่มปันปัน เป็นเด็กๆ ที่อยู่ในภาวะเปราะบาง บางคนกำพร้า บางคนมีประสบปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่ทุกคนล้วนมีความฝันที่จะมีสุขภาพดี มีการศึกษา และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (มสป.) ได้ตระหนักเห็นความสำคัญของเด็กๆ จึงได้จัดกิจกรรมค่ายเด็กขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเองของเด็กๆ เสริมสร้างกระบวนการในดำเนินชีวิตทามกลางปัญหาที่อาจเข้ามากระทบ และสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อน โดยการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกันและกัน ผ่านต่อไปนี้
กิจกรรมแก้ปม เพื่อเรียนรู้จักการวางแผนในการแก้ไขปัญหา การสร้างความรู้สึกต่อปัญหาร่วม การช่วยเหลือกัน
กิจกรรมเขียนจดหมายและการ์ดขอบพระคุณสมาคมคนญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงความขอบพระคุณในความกรุณาของสมาคมคนญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย ที่ได้มอบโอกาสในการเรียนรู้ ให้กับกลุ่มเด็กปันปันได้ก้าวตามความฝัน ได้พัฒนาตนเอง ด้วยการมอบโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เพราะการศึกษาคือบันไดก้าวสู่การมีรายได้ และความสามารถในการเลี้ยงดูตนเอง และผู้มีพระคุณได้ต่อไปในอนาคต
กิจกรรม “คำคม” คือ การแสดงทัศนะต่อประเด็นที่ได้รับ… โดยพี่ๆ จากมูลนิธิฯ ได้ชักชวนสนทนาคำคมต่างๆ ผนวกกับเรื่องราวของชีวิต……และเสริมสร้างกำลังใจให้น้องๆ ได้ทำตามความฝันด้านการศึกษา การสร้างอาชีพ และการดูแลสุขภาพตนเอง
“เพราะเราไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เราสามารถบินได้ เติบโตได้ ในตามแบบของเรา ” นี้คือการตีความจากภาพและข้อความที่เด็กๆ ได้สะท้อนออกมา ทำให้พวกเราเร่ิมมั่นใจแล้วว่าเด็กๆ มีความเข้มแข็งและพร้อมเผชิญกับอนาคตที่กำลังรออยู่ข้างหน้า ขอเพียงกำลังใจ โอกาส และการสนับสนุนก็สามารถส่งเสริมให้เด็กๆ กลุ่มนี้ได้บินได้สูง ได้ไกล เหมือนกับนกตัวอื่นๆ
กิจกรรมเทียนแห่งความหวัง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต การต่อสู้ต่อปัญหา อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เด็กๆ ได้กล่าวถ้อยคำที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของตน วีธีการดูแลสุขภาพตนเอง เป้าหมายของการเดินทาง และการเติมเต็มความรู้สึกของหัวใจให้กันและกัน ทามกลางบรรยากาศอันอบอุ่นของแสงเทียน และความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องจากพี่ๆ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (มสป.)
กิจกรรม Why No Go Tell เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้มีทักษะการประเมินความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางเพศและเพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีแนวทางในการตัดสินใจ สร้างทางเลือก ความปลอดภัยทางเพศให้กับตนเอง
เด็กๆ ได้รู้จักการวิเคราะห์สถานการณ์เสี่ยง ที่อาจมากับรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งกับผู้คนใกล้ชิด หรือคนที่ไว้ใจ การสร้างทางเลือกในการตัดสินใจ การปฏิเสธ การหลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยง และการบอกกล่าวกับคนที่ไว้ใจ คือแนวทางปฏิบัติที่สำคัญที่จะทำให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศ
ด้วยวัยอันแตกต่างทำให้เราได้เห็นภาพของความสัมพันธ์อันอบอุ่น ภาพของพี่ที่ดูแลน้อง ถึงแม้ว่าจะเกิดต่างพ่อ แม่ แต่ด้วยพวกเขามีความรู้สึกร่วม ความเป็นกลุ่มเป็นก้อน จึงเกิดขึ้น ” กลุ่มปันปัน ” จึงเป็นกลุ่มเด็กๆ ที่พร้อมจะดูแลกันให้มีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต