จากการเป็นผู้รับสู่การเป็นผู้ให้: การทำงานด้านเอดส์ของกลุ่มฟ้าสางที่ริมโขง (กลุ่มกะเทยในพื้นที่)

ด้วยอัตลักษณ์ของชายรักชายในพื้นที่ถูกตีกรอบด้วยชุดประสบการณ์ของความเป็นกะเทย และความแปลกแยกจากเพศกระแสหลักคือเพศชายและเพศหญิง    ทำให้กะเทยไม่มีพื้นที่สำหรับตัวเองกลายเป็น “คนอื่น” ในสังคม ส่งผลให้รู้สึกด้อยค่า ไม่เท่าเทียม มีความแปลกแยกในการวางตัวในสังคม อีกทั้งวิถีเพศของกะเทยที่ไม่ได้อยู่ในเพศกระแสหลัก ทำให้พฤติกรรมของกะเทยไปขัดต่อบรรทัดฐานและศีลธรรมของสังคม ส่งผลให้เกิดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อเพศที่สามในสังคมไทย  ด้วยเหตุนี้มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน จึงได้ให้การสนับสนุนการรวมตัวกันของกลุ่มชายรักชายในพื้นที่อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล และอำเภอโพธิ์ไทร ใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มฟ้าสางที่ริมโขง” เพื่อสร้างการยอมรับในตนและการสร้างการยอมรับของคนในสังคม

สำหรับกิจกรรมในปี 2558 นี้ กลุ่มฟ้าสางที่ริมโขงได้ดำเนินกิจกรรมคาราวานความรู้เรื่องเอดส์ เพศศึกษา และการป้องกันท้องที่ไม่พร้อมเพื่อน้องโรงเรียนขยายโอกาส พื้นที่ชายแดนไทย-ลาว จังหวัดอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. เพื่อลดการตีตราและเลือกปฏิบัติของคนในสังคมต่อเพศที่สาม โดยการแสดงภาพลักษณ์ชายรักชายในการทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์

2. เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนขยายโอกาสมีความรู้เรื่องเอดส์ เพศศึกษา การป้องกันท้องไม่พร้อม

3. เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสรู้ข้อมูลการบริการด้านสุขภาพ และเข้าถึงถุงยางอนามัยได้สะดวกขึ้น

4.เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนในโรงเรียนได้ขยายโอกาสเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมด้านเอดส์ในโรงเรียน

โดยมีการจัดกิจกรรมอบรมให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยม 1-3 จำนวน 5 โรงเรียน ได้แก่  โรงเรียนบ้านดอนเย็นใต้ โรงเรียนบ้านคำกลาง อำเภอโพธิ์ไทร /โรงเรียนบ้านบึงหอม โรงเรียนนาตาลเหนือ อำเภอเขมราฐ/  โรงเรียนบ้านนาชุม อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี  ใช้ระยะเวลาในการอบรม 1 วัน และ มอบงบประมาณสนับสนุนให้กับนักเรียนในการจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านเอดส์ในโรงเรียน ๆ ละ 3,000 บาท โดยงบประมาณดังกล่าวมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปันได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี

ผลการดำเนินกิจกรรม เราได้พบว่ากลุ่มแกนนำได้รับการยอมรับในบทบาทการเป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้เรื่องเอดส์และเพศ เป็นตัวแทนในการแจกจ่ายถุงยางอนามัย ทำให้กลุ่มเยาวชนสามารถเข้าถึงถุงยางอนามัยได้ง่ายขึ้น  นอกจากนี้ยังพบว่าจากการดำเนินกิจกรรมอบรมทำให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ที่ถูกต้องในเรื่องเพศ เอดส์ ไม่แสดงออกถึงการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ และเพศที่สาม โดยจากผลการประเมินจากแบบสอบถามพบว่า ค่าเฉลี่ยความรู้ และทัศนคติเรื่องเอดส์เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 59.33 เป็นร้อยละ 90.91

โดยหลังจากกลุ่มชายรักชายได้จัดกิจกรรมอบรมให้กับนักเรียนแล้ว แต่ละนักเรียนได้นำความรู้ที่ได้ไปบอกต่อ โดยการรณรงค์เรื่องเอดส์ในโรงเรียนและชุมชนของตนเอง จะเป็นได้ว่าคนทุกคนสามารถพลิกบทบาทจากการเป็นผู้รับ มาเป็นผู้ให้ได้ ขอเพียงความเข้าใจ โอกาส และการสนับสนุน ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ร่วมกันให้โอกาส และส่งเสริมการสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ เพื่อสังคม
ขอบคุณคะ