ความเป็นมา
องค์การแชร์ (SHARE Organization) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน มีเป้าหมายองค์กร คือ “สุขภาพดีถ้วนหน้า” เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาคน(กลุ่มเป้าหมาย) และกระบวนการในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ ส่งเสริมให้คนเกิดการดูแลสุขภาพตัวเองขั้นพื้นฐาน และเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง เท่าเทียม องค์การแชร์ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยความร่วมมือของแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครด้านสุขภาพ ผู้ซึ่งต้องการแบ่งปันความสุขและความมีสุขภาพดีกับมวลมนุษยชาติ ปัจจุบันดำเนินโครงการใน 5 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ไทย กัมพูชา ติมอร์ตะวันออก และแอฟริกาใต้
องค์การแชร์ ประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 เพื่อดำเนินโครงการด้านสาธารณสุข
มูลฐาน สุขภาพ และโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ ปี พ.ศ. 2551 – ปัจจุบัน องค์การแชร์ ประเทศไทย เข้ามาดำเนินโครงการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในพื้นที่ตำบลเขมราฐ ตำบลหัวนา ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ และ ตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อดำเนินงานในกลุ่มเป้าหมาย ชายรักชาย พนักงานบริการร้านคาราโอเกะ กลุ่มเยาวชน ผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ ผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์ และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานเอดส์ อำเภอเขมราฐ
วิสัยทัศน์ (Vision)
เป็นองค์กรต้นแบบการทำงานด้านสุขภาพและเสริมสร้างศักยภาพผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ภายใต้การบริหารจัดการที่เป็นเลิศ ด้วยความร่วมมือของท้องถิ่นและชุมชน
พันธกิจ (Mission)
มุ่งสู่การเป็นองค์กรต้นแบบที่ทำงานด้านสุขภาพและเสริมสร้างศักยภาพ การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ บุคลากรมีความรู้และทักษะ แสวงหาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและชุมชน
เป้าประสงค์ (Goal)
ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม มีสุขภาพดี
กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงาน
-
กลุ่มชายรักชาย
-
กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และพนักงานบริการ
-
กลุ่มผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ และผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์
-
กลุ่มเยาวชน
-
กลุ่มผู้นำและเครือข่ายในการทำงานด้านเอดส์
พื้นที่ในการดำเนินโครงการ
อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร และอำเภอวารินชำราบ และอำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
ที่ตั้งสำนักงาน
ตั้งอยู่เลขที่ 192 ถนนวิศิษฐิ์ศรี ม. 7 ต. เขมราฐ อ. เขมราฐ จังหวัด อุบลราชธานี 34170 โทรศัพท์/โทรสาร 045-491412
Email: sharethailand@hotmail.co.th
เว็บไซด์: www.sharethailand.org
ได้รับการสนับสนุนหลัก จาก
-
กองทุนโลก (GF: Global Found) ตุลาคม 2552 – กันยายน 2557
-
สถาบันส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) กันยายน 2553 – 2554
-
จากการบริจาคของประชาชนคนญี่ปุ่น
ผลการดำเนินโครงการ ระหว่างเดือนมิถุนายน 2552 – เดือนธันวาคม 2553
กลุ่มผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์
ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน
มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์ ร่วมกับโรงพยาบาลอำเภอเขมราฐ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเข้าถึงบริการการรักษาอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และพัฒนาศักยภาพแกนนำผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์ ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการให้บริการดูแลรักษาสมาชิกผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ และแก้ไขปัญหาเอดส์ร่วมกับชุมชนได้ด้วยตัวเอง
การดำเนินงาน/กิจกรรม
1. ด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ สมาชิกกลุ่ม ผู้ได้รับผลกระทบ และครอบครัว
กิจกรรมการให้คำปรึกษา เพื่อดูแลด้านจิตใจ กิจกรรมเยี่ยมบ้านสมาชิกกลุ่มโดยแกนนำเพื่อให้คำแนะนำและติดตามสมาชิก การอบรมแกนนำ (เรื่อง การสื่อสารเรื่องโรคเอดส์, การเขียนโครงการ, การบริหารจัดการ) ค่ายครอบครัวและประชุมประจำเดือนกลุ่มเด็กได้รับผลกระทบจากเอดส์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบฯ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และแกนนำกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ
2. ด้านการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์ สุขภาพ และความต่อเนื่องในการรักษา
กิจกรรมประชุมประจำเดือน กิจกรรมอบรมการให้ความรู้เรื่องเอดส์ เพศ กับสมาชิกกลุ่มผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ และคนในชุมชน กิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องยาต้านไวรัส โรคแทรกซ้อนฉวยโอกาส และการดูแลสุขภาพเบื้องต้น กิจกรรมส่งเสริมการป้องกันในกลุ่มผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์
3. ด้านสวัสดิการทางสังคมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์
สร้างเครือข่ายการทำงานด้านเอดส์ ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน ผู้นำชุมชน เพื่อประสานความร่วมมือในการช่วยเหลือด้านสวัสดิการทางสังคม เพื่อส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ ได้รับเบี้ยยังชีพ ทุนการศึกษาสำหรับเด็กได้รับผลกระทบฯ
ผลที่เกิดขึ้น
-
มีแกนนำผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3 คน เป็นผู้นำในการดำเนินกิจกรรมด้านเอดส์ เช่น เยี่ยมบ้าน ให้คำปรึกษา ประชุมกลุ่มประจำเดือน เป็นวิทยากรสื่อสารให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ เพศศึกษา กับคนในชุมชน เขียนรายงานกิจกรรม และบริหารจัดการโครงการ
-
มีกลุ่ม ชื่อกลุ่มมิตรภาพริมโขง เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีสมาชิกผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ และผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์ ที่ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยใน 2 อำเภอ คือ อำเภอนาตาล และอำเภอเขมราฐ ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มฯที่ได้รับยาต้านไวรัสและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ผู้ใหญ่จำนวน 284 คน (ผู้ใหญ่รับยาต้านไวรัส จำนวน 192 คน) เด็กจำนวน 12 คน
-
มีการประชุมสรุปงานร่วมกันระหว่าง แกนนำกลุ่มฯ องค์การแชร์ และ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานเอดส์ โรงพยาบาลเขมราฐ ทุก 3 เดือน เพื่อติดตามความคืบหน้า การประชุมสรุปงานร่วมกับภาคีเครือข่ายการทำงานด้านเอดส์ เพื่อกำหนดทิศทาง ทุก 6 เดือน
กลุ่มชายรักชาย
ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน
ส่งเสริมให้กลุ่มชายรักชายเข้าถึงบริการการป้องกัน การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีแบบสมัครใจ และการส่งต่อเพื่อการรักษา เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รายใหม่ พัฒนาศักยภาพเครือข่ายในการทำงานดำเนินงานด้านเอดส์อย่างมีส่วนร่วม ในพื้นที่อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
การดำเนินงานและกิจกรรม
1.ประเด็นการป้องการติดเชื้อรายใหม่
สร้างอาสาสมัครให้ความรู้ (MSM peer –educators) และเครือข่ายคนทำงานเชิงรุกในพื้นที่ โดยทำกิจกรรมลงพื้นที่ กิจกรรมสนับสนุนถุงยางอนามัยในพื้นที่ กิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ เพศศึกษา การป้องกัน สุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชายรักชาย มีจุดบริการข้อมูลข่าวสาร ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่ใกล้ชุมชน และกลุ่มชายรักชายเป็นผู้ประสานเพื่อส่งต่อข้อมูล การบริการระหว่างชายรักชายในชุมชน
2.ประเด็นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการการตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ให้ข้อมูลและบริการเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ การให้คำปรึกษาและตรวจเอดส์โดยสมัครใจ (VCT: Voluntary Counseling Testing) การดูแลรักษา และการช่วยเหลือเกี่ยวกับโรคเอดส์ที่เป็นมิตรต่อกลุ่มชายรักชาย และพัฒนาแกนนำชายรักชายเป็นอาสาสมัครในการบริการให้ข้อมูลความรู้ และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการให้บริการด้านสุขภาพกับกลุ่มเพื่อนชายรักชาย
3.ประเด็นเพิ่มการเข้าถึงถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น
การมี–เข้าถึงถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นอย่างต่อเนื่อง เน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีใช้อย่างต่อเนื่องโดยการประสานทรัพยากรในท้องถิ่นมาสนับสนุนกิจกรรม และเกิดกองทุนถุงยางโดยเครือข่ายองค์กรชุมชนเองให้มีอุปกรณ์ ในการป้องกันตนเองได้ในระยะยาว สำหรับแจกจ่ายกลุ่มชายรักชาย ประชาสัมพันธ์
4.ประเด็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมและพัฒนาศักยภาพของกลุ่มองค์กรในโครงการ
สร้างภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็งเพื่อผลักดันในเชิงนโยบาย และความเคลื่อนไหวทางสังคม โดยผ่านการมีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้และประสบการณ์ กับเครือข่ายองค์กรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่
5. การติดตามประเมินผล และบันทึกบทเรียน
ประเมินและติดตาม กระบวนการดำเนินงาน แบบมีส่วนร่วมกับอาสาสมัคร กลุ่มเป้าหมายที่ทำงานด้วยกัน และหน่วยงานภาครัฐ เช่นเจ้าหน้าที่ในสถานบริการด้านการแพทย์ในพื้นที่ร่วมสรุปงานและติดตามการทำงาน แนวทางการปรับปรุงแก้ไขพัฒนาเนื้องานต่อไปในอนาคต
ผลการดำเนินงาน
- มีกลุ่มชายรักชาย ชื่อ กลุ่มฟ้าสางที่ริมโขง ที่มีโครงสร้าง การแบ่งบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการกลุ่มในการทำกิจกรรมด้านเอดส์ เพศศึกษา และสุขภาพในพื้นที่
- แกนนำชายรักชายสามารถเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้เรื่องเอดส์ เพศให้กับกลุ่มเยาวชนทั้งในและนอกระบบ ร่วมกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)อำเภอเขมราฐ
- มีตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้านสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนงานเอดส์ อำเภอเขมราฐ
- กลุ่มฟ้าสางที่ริมโขง มีแกนนำชายรักชายที่สามารถเขียนโครงการ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินกิจกรรมด้านเอดส์จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.พะลาน) จำนวน 10,000 บาท สำหรับกิจกรรมเอดส์ในพื้นที่อำเภอนาตาล เทศบาลตำบลเทพวงศา และเทศบาลตำบลเขมราฐ สนับสนุนงบประมาณ สิ่งของ สถานที่ สำหรับดำเนินโครงการรณรงค์เรื่องโรคเอดส์วันเอดส์โลก (แห่งละ 5,000 บาท) รวม 10,000 บาท
- มีแกนนำชายรักชายในการทำงานกระจายในพื้นที่อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล และอำเภอโพธิ์ไทร อย่างต่อเนื่องจำนวน 35 คน
- มีสมาชิกชายรักชาย จำนวน 23 คน เข้ารับการตรวจเลือดแบบสมัครใจที่โรงพยาบาลเขมราฐ และชายรักชาย จำนวน 7 คนได้รับการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากโรงพยาบาลเขมราฐ
- แจกจ่ายถุงยางอนามัยไปสู่กลุ่มชายรักชาย ในพื้นที่ 3 อำเภอ (อำเภอนาตาล อำเภอเขมราฐ อำเภอโพธิ์ไทร) จำนวน 10,000 ชิ้น ( MOFA สนับสนุน 5,000 ชิ้น GF และโรงพยาบาล สนับสนุน 5,000 ชิ้น และเจลหล่อลื่นจำนวน 2,000 ชิ้น)
กลุ่มพนักงานบริการร้านคาราโอเกะ
ยุทธศาสตร์การทำงาน
สร้างเครือข่ายการทำงานป้องกันการติดเชื้อ และดูแลด้านสุขภาพ ในกลุ่มของพนักงานบริการร้านคาราโอเกะ เจ้าของสถานประกอบการ และลูกค้า ในเขตพื้นที่อำเภอเขมราฐ ส่งเสริมให้เข้าถึงบริการการรักษา และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์อย่างมีส่วนร่วม และพัฒนาระบบในการให้บริการ และการทำงานในกลุ่มพนักงานบริการชาวลาวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การดำเนินกิจกรรม
1. ให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การดูแลสุขภาพเบื้องต้นในกลุ่มพนักงานบริการชาวลาว และเจ้าของสถานประกอบการร้านคาราโอเกะ
กิจกรรมประชุมประจำเดือน กิจกรรมลงพื้นที่ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโรคเอดส์ การป้องกัน และการประเมินอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น และส่งต่อไปรับการรักษาเบื้องต้นยังสถานพยาบาล
2. เครือข่ายผู้ประกอบการ
กิจกรรมประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อบรมทักษะการให้คำปรึกษากับเจ้าของสถานประกอบการ ประชุมภาคีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดระบบการดูแลสุขภาพที่เอื้อต่อการเข้าถึงการรักษาของพนักงานบริการ ให้เข้าถึงกลุ่มพนักงานบริการชาวลาวมากยิ่งขึ้น
3. การเข้าถึงระบบบริการการรักษาที่โรงพยาบาล
จัดตั้งคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และระบบการส่งต่อข้อมูลระหว่างร่วมกับโรงพยาบาลเขมราฐ ร้านคาราโอเกะ และพนักงานบริการในการเข้าตรวจสุขภาพ
ผลการดำเนินงาน
-
มีเครือข่ายสถานประกอบการร้านคาราโอเกะ จำนวน 11 ร้าน ที่เข้าร่วมกิจกรรมและให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมโครงการ
-
มีพนักงานบริการจำนวน 52 คน (ร้านละ 5-7 คน) เข้าร่วมกิจกรรมประชุมประจำเดือน และอบรมให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ เพศศึกษา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
-
มีแกนนำสื่อสารข้อมูลเรื่องสุขภาพ และส่งต่อที่ร้านคาราโอเกะ จำนวน 10 คน (เจ้าของร้านคาราโอเกะ)
-
มีกองทุนถุงยางอนามัยของเครือข่ายสถานประกอบการ ในการบริจาคเงินเพื่อซื้อถุงยางอนามัยราคาถูกให้บริการกับพนักงานบริการร้านคาราโอเกะ
-
มีจุดบริการข้อมูล เช่น แผ่นพับเรื่องสุขภาพ โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถุงยางอนามัยสำหรับพนักงานบริการที่ร้านคาราโอเกะ
-
มีคลินิกตรวจสุขภาพ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มพนักงานบริการทุกวันพุธ ช่วงบ่าย มีคลินิกเคลื่อนที่เพื่อให้บริการการตรวจสุขภาพให้กับพนักงานที่ร้านโดยความร่วมมือขององค์การแชร์ ประเทศไทย โรงพยาบาลอำเภอเขมราฐ และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ
กลุ่มเยาวชน
ยุทธศาสตร์การทำงาน
เพื่อพัฒนาและเสริมสมรรถนะทีมทำงานระดับตำบลในเรื่องเอดส์ เพศศึกษา การวิเคราะห์ชุมชน , จัดทำแผนพัฒนาชุมชน ,พัฒนาโครงการเสนอแหล่งทุนในระดับต่างๆ และเสริมสร้างคณะทำงานเอดส์ระดับตำบล ในการพัฒนาระบบการทำงานด้านสุขภาพเข้าสู่แผนนโยบายในงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างกลไกชุมชนให้มีบทบาทการทำงานด้านเอดส์อย่างเป็นระบบและการระดมทุนสู่ชุมชน จัดตั้งและพัฒนาศูนย์บริการด้านสุขภาพ/เอดส์ในชุมชนระดับตำบล สร้างกระบวนการวิเคราะห์ต่อปัญหาสุขภาพ และโรคเอดส์ต่อกลุ่มเยาวชน ด้วยการใช้สื่อสารสาธารณะ , เวทีแลกเปลี่ยนสาธารณะ,บทเรียน ส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายเยาวชน และทีมทำงานชุมชน
การดำเนินกิจกรรม
-
ประสานขอความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลให้มีการวางแผนการจัดกิจกรรมด้านป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาชุมชนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนด้วย
-
ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยและจัดจุดบริการถุงยางอนามัยให้ใช้ได้สะดวกมากขึ้น
-
พัฒนาศักยภาพของคณะทำงานกลไกการประสานงานระดับตำบลในการวิเคราะห์แผนงาน,เขียนโครงการ,ติดตามหนุนเสริมงานกิจกรรมด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์
-
การจัดตั้งและประชุมคณะทำงานด้านเอดส์ระดับท้องถิ่นระดับตำบล
-
การพัฒนาศักยภาพเยาวชนและชุมชนให้เป็นวิทยากรชุมชน หรือ ทีมทำงานชุมชนและเครือข่ายทำงานด้านเอดส์ในการเป็นแกนนำเผยแพร่ความรู้ในชุมชนระดับตำบล โดยการประชุมกลุ่มประจำเดือน อบรมเพิ่มทักษะที่จำเป็นในการทำงานเรื่องโรคเอดส์ เพศศึกษาให้กับคณะทำงานตำบล
-
จัดทำแผนการป้องกันเอดส์ในชุมชนระดับตำบล อย่างมีส่วนร่วม
-
การเขียนโครงการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงาน และแหล่งทุนต่าง ๆ
-
มีจุดบริการเผยแพร่ข้อมูล ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องโรคเอดส์ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ แก่ชุมชนระดับตำบล
-
รณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจที่เน้นปัจจัยเสี่ยงและสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมทางการเรียนรู้เพศศึกษา / เอดส์ ที่ถูกต้อง
-
เวทีแลกเปลี่ยนบทเรียน และเครือข่ายการทำงานเอดส์ระดับภาค ,จังหวัด,ตำบล
-
พัฒนาการสื่อสารด้านเอดส์ต่างๆ เช่นผ่านวิทยุชุมชน โดยทีมทำงานชุมชน
ผลการดำเนินงาน
-
มีคณะทำงานชุมชนระดับตำบล ๆ ละ 1 คณะ ในพื้นที่ตำบลเขมราฐ ตำบลนาแวง ตำบลหัวนา และตำบลบุ่งมะแลง จังหวัดอุบลราชธานี (ที่ประกอบด้วยแกนนำเยาวชน ผู้นำชุมชน ตัวแทนจากหน่วยงานองค์กรในพื้นที่)
-
มีแกนนำเยาวชนสามารถสื่อสารเรื่องโรคเอดส์ การป้องกัน เพศศึกษา โดยประมาณตำบลละ 7-10 คน
-
มีศูนย์ให้บริการถุงยางอนามัย และข้อมูลเรื่องสุขภาพ เอดส์ ตำบลละ 1 แห่ง
-
เยาวชนแต่ละพื้นที่มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บทเรียนการทำงานด้านเอดส์ เพศในชุมชนเดือนละ 1 ครั้ง
-
เยาวชนสามารถวางแผนกิจกรรม เขียนโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุน)
-
มีสื่อประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมในพื้นที่ เช่น สปอตวิทยุ เพื่อประชาสัมพันธ์การทำงานของกลุ่มเยาวชน และโครงการในพื้นที่อย่างต่อเนื่องผ่านสถานีวิทยุชุมชน และสื่อบุคคล
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนในการดำเนินงาน
-
ที่ว่าการอำเภอเขมราฐ (ภายใต้การดำเนินงานผ่านภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานเอดส์อำเภอเขมราฐ โดยมีนายอำเภอเขมราฐเป็นประธาน)
-
หน่วยงานสาธารณสุข (สสจ.,สสอ,สอ. และเครือข่าย อสม.อำเภอเขมราฐ)
-
โรงพยาบาลเขมราฐ
-
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
-
โรงเรียน และชุมชน
-
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเขมราฐ
-
ภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนงานเอดส์ อำเภอเขมราฐ