โดย ประทักษ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ พ.บ., ศาสตราจารย์
ในปัจจุบันปัญหาวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นและรุนแรงมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จากแนวทางโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของทุกคนในสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นที่มีความอ่อนด้อยทางด้านการดำเนินชีวิต หรือการมีทักษะชีวิตที่ดี จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทำให้วัยรุ่นไทยเป็นวัยรุ่นในยุคที่มีปัญหามากที่ สุด มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้วัยรุ่นยุคใหม่ไร้ปัญหา.
สำหรับปัญหาวัยรุ่นที่สำคัญ ได้แก่
- การตั้งครรภ์ไม่วางแผน ไม่ปรารถนาหรือไม่พร้อม.
- การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคเอดส์จากการสำส่อนทางเพศ.
- การใช้สารเสพติด.
- การก่ออาชญากรรมทางเพศ.
จากปัญหาสำคัญทั้ง 4 ปัญหา เมื่อนำมาวิเคราะห์จะพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศในวัยรุ่นเป็น สำคัญ และเป็นเรื่องเพศที่ไม่ปลอดภัย เพราะ วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง และสุ่มเสี่ยง อยากทำตัวเด่นเป็นที่ยอมรับของเพื่อน ๆ แม้ว่าพฤติกรรมนั้นจะไม่เหมาะสมก็ตาม แต่วัยรุ่นก็จะยินดีที่จะทำ โดยขาดการคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดตามมาทั้งต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม. ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาวัยรุ่น ดังกล่าวโดย เฉพาะประเด็นเรื่องเพศ ก็ต้องทำให้วัยรุ่นเข้าใจถึงประเด็นเรื่องเพศที่ถูกต้องโดยต้องเน้น ว่า เรื่องเพศนั้นไม่ใช่เรื่องการร่วมเพศ แต่เป็นเรื่องของความรักความเข้าใจ บุคลิกภาพ และสัมพันธภาพระหว่างบุคคล.
ส่วนเรื่องการร่วมเพศนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องเพศเท่านั้น และจะมีการร่วมเพศก็ต่อเมื่อมีความพร้อม หรือมีการเริ่มต้นชีวิตของชีวิตครอบครัวใหม่ และเป็นการกระทำที่ยินยอมพร้อมใจกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีการหลอกล่อ บังคับ หรือข่มขืนใจใดๆ ทั้งสิ้น และแม้ว่าเรื่องเพศจะเป็นเรื่องธรรมชาติก็ตาม แต่ถ้าปล่อยปละละเลยวัยรุ่น ไม่ให้การศึกษาไม่ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็อาจก่อให้เกิดโทษกับวัยรุ่นได้หลายประการด้วยกัน เช่น การเกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากขาดความรู้และประมาทโดยคิดว่าภาวะการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น กับตนเอง หรือกระทำพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ โดยหวังทรัพย์สินเงินทอง เพื่อมาเที่ยวเตร่และใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย เป็นต้น. ดังนั้น การที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย (safe sex) ในวัยรุ่นนั้น ก็ต้องเน้นไปที่ความเข้าใจเรื่องเพศที่ถูกต้อง หรือให้มีกระบวนการเรียนการสอนเพศศึกษา (sexuality education) อย่างกว้าง ขวางและทั่วถึง รวมทั้งดำเนินการเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กก่อนที่จะเข้าสู่วัยรุ่น เพราะถ้าสอนตอนวัยรุ่นก็อาจช้าไป วัยรุ่นอาจมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมก่อนที่จะได้รับการเรียนรู้ที่ถูก ต้องก่อน.
สำหรับพื้นฐานเรื่องเพศที่จะต้องเน้นให้วัยรุ่นเรียนรู้ได้แก่การเรียนรู้ถึงการมีสุขภาพอนามัยทางเพศที่สมบูรณ์ (sexual health) ซึ่งก็คือการผสมผสานความเป็นเพศ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณในทางที่จะสนับสนุนและส่งเสริมบุคลิกภาพ สัมพันธภาพ และความรัก โดยนัยแห่งความหมายนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดลักษณะของความมีสุขภาพอนามัยทางเพศ ที่สมบูรณ์ ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกวัยรวมทั้งวัยรุ่นด้วย ดังนี้
- มีความสามารถที่จะเป็นสุข และควบคุมพฤติกรรมทางเพศของตนเองให้สอดคล้องกับจรรยาของสังคม และไม่ละเมิดศีลธรรมของผู้อื่น.
- ปราศจากความรู้สึกกลัว อับอาย ละอายใจ หลงผิด และสภาวะทางจิตใจที่จะไปยับยั้งการตอบสนองทางเพศ และทำให้สัมพันธภาพทางเพศเสื่อมลง.
- ปราศจากความผิดปกติทางร่างกาย โรคภัยไข้เจ็บ และความบกพร่องต่างๆ ที่จะขัดขวางการทำหน้าที่ทางเพศ.
จากข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกจะเน้นให้เห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติตาม ธรรมชาติ ซึ่งเกิดได้กับคนทุกวัย โดยเริ่มต้นตั้งแต่วัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยแตกหนุ่มแตกสาว และเป็นผลจากฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เกิดมีความต้องการทางเพศเกิดขึ้น โดยเริ่มจากเมื่อร่างกายถูกกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม คนเราก็อาจระงับความรู้สึกนี้ไว้ได้ โดยอาศัยสติปัญญาของบุคคลนั้นๆ และ ภาวะแวดล้อม กาลเทศะ แต่ถ้าไม่มีความขัดข้องทางด้านเวลา สถานที่ และบุคคล คนเราก็มักจะปฏิบัติทางออกทางเพศซึ่งก็มีได้หลายรูปแบบ 2,3
1. Solitary activities คือการอาศัย แต่ตนเองเพียงอย่างเดียว ได้แก่
1.1 การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (masturbation) คน เรารู้จักวิธีนี้ในการหาความสมปรารถนาทางเพศด้วยการกระตุ้นและการโต้กระตุ้น ทางเพศด้วยตนเองให้สมบูรณ์จนถึงจุดสุดยอด ตั้งแต่ระยะวัยแตกหนุ่มแตกสาว.
1.2 การฝันทางเพศ (nocturnal sex dream) ซึ่งเกิดขึ้นเองในขณะนอนหลับ ทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่ในเพศชายจะมีการหลั่งน้ำอสุจิร่วมด้วย จึงเรียกว่าฝันเปียก (wet dream) ส่วนเพศหญิงมีแต่การถึงจุดสุดยอด.
2. Sociosexual activities คือการอาศัยผู้อื่นร่วมด้วย ได้แก่
2.1 การมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศตรงข้าม (heterosexual relationship) ได้แก่ การกอดจูบ ลูบ คลำ (petting) และการร่วมเพศ (coitus).
2.2 การมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกัน (homosexual relationship) ได้แก่ การมีความสัมพันธ์ทางเพศได้เฉพาะกับเพศเดียวกันเท่านั้น (exclusively homosexual) และการมีความสัมพันธ์ทางเพศได้ทั้งสองเพศ (bisexual).
จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยสำหรับวัยรุ่น นั้น จะต้องเน้นไปที่ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเพศ ว่าโดยความจริงแล้วเรื่องเพศมีด้วยกันหลายด้านไม่ใช่ด้านของการร่วมเพศอย่าง เดียว แต่รวมไปถึงด้านของความรัก ความเข้าใจ และการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างบุคคลร่วมด้วย และยังจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่จะเกิดขึ้นตามมาจาก เรื่องเพศที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ทั้งในส่วนของตนเอง ครอบครัว และสังคมโดยรวม ซึ่งตนเองจะต้องตระหนักและมีส่วนรับผิดชอบร่วมด้วย ซึ่งข้อแนะนำสำหรับวัยรุ่นนั้นคงจะห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้วัยรุ่นมีเรื่องทาง เพศเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน แต่คงจะต้องเน้นในเรื่องของความรัก ไม่ใช่เรื่องของความใคร่ หรือเรื่องของการร่วมเพศ. แต่อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาของวัยรุ่นก็คือวัยรุ่นไทยไม่มีความสามารถเพียง พอที่จะใช้ความคิด ใช้เหตุใช้ผลสำหรับแยกแยะให้ได้ว่าอะไรคือความรัก อะไรคือความใคร่ ซึ่งหมายถึงการร่วมเพศ.
ดัง นั้นการที่จะให้วัยรุ่นมีเรื่องเพศที่ปลอดภัย ก็คงจะต้องเน้นกับวัยรุ่นว่ามีความรัก ความผูกพันกับใครบางคนได้ ทั้งเป็นเพื่อนสนิท หรือคู่รัก แต่จะต้องไม่เลยเถิดไปถึงการร่วมเพศ ซึ่งจะรวมถึงกลุ่มรักร่วมเพศด้วย และการช่วยตนเองทางเพศ ไม่ใช่สิ่งผิด สามารถกระทำได้ ก็จะเป็นการลดความเครียดทางเพศ (sexual tension) ลง ได้. แต่ก็ไม่ควรที่จะหมกหมุ่นกับเรื่อง เพศจนเกินไป ควรที่จะหากิจกรรมผ่อนคลายอื่นๆ กระทำร่วมไปด้วย ได้แก่ การออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา.
แต่ในกรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถห้ามใจตนเอง หรือเกิดความคล้อยตามที่จะทำให้เกิดการร่วมเพศ วัยรุ่นจะต้องมีทักษะชีวิตที่ดีในการที่จะปฏิเสธการร่วมเพศอย่างชัดแจ้งและ แข็งขัน ถึงอย่างไรก็ไม่ยอมร่วมเพศ หรือใช้ทักษะการต่อรองเรื่องเพศโดยการไม่ร่วมเพศ แต่จะเป็นการกระตุ้นทางเพศให้กับฝ่ายตรงข้าม แม้ว่าจะถูกบังคับหรือข่มขู่ก็ตาม โดยวัยรุ่นจะต้องตระหนักเสมอถึงผลกระทบที่อาจจะตามมาซึ่งได้แก่ การตั้งครรภ์ หรือการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคเอดส์ ซึ่งมีอันตรายรุนแรงถึงชีวิต หรือในกรณีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม แล้วต้องยุติการตั้งครรภ์ ก็อาจมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้จากการตกเลือด และการติดเชื้อภายในอุ้งเชิงกราน ดังนั้นวิธีป้องกันมาตรฐานที่จะต้องปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัยในกรณีที่มี การร่วมเพศก็ ได้แก่ การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่ร่วมเพศ ก็จะเป็นการปลอดภัยจากการตั้งครรภ์ และการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์.
นอก เหนือจากที่กล่าวแล้วข้างต้น เรื่องเพศที่ปลอดภัยสำหรับวัยรุ่นอีกประการหนึ่ง ก็คือตัววัยรุ่นเองจะต้องคบหาสมาคมกับกลุ่มเพื่อนเรียน ไม่คบกับกลุ่มเพื่อนเที่ยวที่ชอบไปมั่วสุมหรือใช้สารเสพติดต่างๆ เพราะจะทำให้วัยรุ่นขาดสติ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดการร่วมเพศ การหลอกลวง และอาชญากรรมทางเพศตามมาเสมอๆ. และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ก็คือตัววัยรุ่นเองจะต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง รู้คุณค่าในตนเอง (self esteem) สามารถ ที่จะคิดได้อย่างมีเหตุมีผล ไม่เข้าไปเกลือกกลั้วกับสิ่งไม่ดี โดยเฉพาะสารเสพติดที่มีการแพร่ระบาดอย่างมากในสังคม และสถานเริงรมย์ยามวิกาล รวมทั้งสังคมก็จะต้องมีส่วนเกื้อหนุนสร้างสังคมปลอดภัย ซึ่งเป็น social vaccine ให้กับวัยรุ่นก็จะทำให้วัยรุ่นมีเรื่องเพศที่ปลอดภัยตลอดไป.
การให้การดูแลวัยรุ่นให้เกิดสุขภาพทางเพศที่ปลอดภัยและสมบูรณ์ ได้แก่
- การส่งเสริมทักษะชีวิตด้านเพศศึกษา (sexuality education) ที่ จะให้ความรู้ความเข้าใจแก่วัยรุ่นเกี่ยวกับธรรมชาติทางเพศ เพื่อให้เกิดเจตคติที่ดีต่อธรรมชาติทางเพศและสามารถเลือกปฏิบัติสำหรับตนเอง ให้เป็นสุข และสามารถควบคุมพฤติกรรมทางเพศของตนเองให้เหมาะสมกับสังคม โดยจะต้องจัดการความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างเป็นระบบสอดคล้องกันทั้งสังคม โดยจะต้องเริ่มต้นก่อนที่เด็กชายจะมีการหลั่งน้ำอสุจิ และเด็กหญิงก่อนที่จะมีประจำเดือน โดยการสอนเพศศึกษาจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเริ่มพูดได้ และอยากรู้อยากเห็น และต้องทำให้เป็นการศึกษาต่อเนื่องไปตลอด โดยเริ่มที่ครอบครัว แล้วไปที่สถาบันการศึกษา ร่วมกับองค์กรสนับสนุนด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข และสื่อสารมวลชน. นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมกิจกรรมด้านการออกกำลังกาย และกีฬาที่สม่ำเสมอก็จะเป็นการส่งเสริมการมีสุขภาพทางเพศที่สมบูรณ์อีกวิธี หนึ่งด้วย
- การป้องกัน โดยวัยรุ่นจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการร่วมเพศ ได้แก่ การอยู่กันสองต่อสองในที่ลับตาคน การมั่วสุม และการใช้สารเสพติด ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมเพศแล้วเกิดการตั้งครรภ์ หรือการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ อีกทั้งจะต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางคนเดียวในที่เปลี่ยวและที่ปลอดคนยามวิกาล หรือสถานเริงรมย์ ซึ่งจะเป็นสถานที่ที่เสี่ยงต่อการถูกข่มขืนกระทำชำเรา หรือการก่ออาชญากรรมทางเพศได้.
สรุป
เพศ ที่ปลอดภัยสำหรับวัยรุ่นนั้นจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของเพศศึกษา ให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศที่ถูกต้อง รวมทั้งจะต้องเตรียมวัยรุ่นให้มีทักษะชีวิตที่ดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง รู้คุณค่าในตนเอง รู้จักการปฏิเสธและการต่อรองในกรณีที่จะเกิดมีการร่วมเพศ รวมทั้งรู้จักป้องกันตนเองเมื่อมีการร่วมเพศ โดยให้มีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่ร่วมเพศ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งโรคเอดส์ และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ก็คือทุกคนจะต้องร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับ วัยรุ่นที่ปราศจากสารเสพติดและอาชญากรรมทางเพศ ก็จะทำให้วัยรุ่นมีเพศที่ปลอดภัยตลอดไป.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553