ผู้เขียน นางสาว สิริพรรณ เผ่ากัณหา
นักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ก้าวแรกที่เข้าสู่การเป็นนักศึกษาฝึกงาน ณ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (มสป.) ทำให้ฉันได้มีประสบการณ์มากมายจากการทำงานการลงพื้นที่ในการทำกิจกรรมที่หลากหลายทั้งงานด้านเด็ก เยาวชน ระบบการจัดเก็บข้อมูลในสำนักงาน โดยในที่นี้จะดิฉันขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ประทับใจมากที่สุดคือการทำงานในกลุ่มเด็กเปราะบาง โดยความหมายเด็กในภาวะเปราะบาง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ประกอบด้วย
เด็กเร่ร่อน หมายถึง เด็กที่ไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ไม่เลี้ยงดูหรือไม่สามารถเลี้ยงดูได้ จนเป็นเหตุให้เด็กต้องแร่ร่อนไปในที่ต่างๆ หรือเด็กที่มีพฤติกรรมใช้ชีวิตแร่ร่อนจนน่าจะเกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพของตน
เด็กกำพร้า หมายถึง เด็กที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต เด็กที่ไม่ปรากฏบิดา มารดาหรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้
เด็กที่อยู่ในสภาพยากลำบาก หมายถึง เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน หรือบิดามารดาหย่ารร้าง ทิ้งร้าง ถุกคุมขัง หรือแยกกันอยู่ และได้รับความยากลำบาก หรือเด็กที่ต้องรับภาระหน้าที่ในครอบครัวเกินวัยหรือกำลังความสามารถและสติปัญญา หรือเด็กที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม หรือเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
เด็กพิการ หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องด้านร่างกาย สมอง สติปัญญาหรือจิตใจ ไม่ว่าความบกพร่องนั้นจะมีมาแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง
เด็กที่ถูกทารุณกรรม หมายถึง เด็กที่ถูกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดๆ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียเสรีภาพหรือเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ การกระทำผิดทางเพศต่อเด็ก หรือใช้เด็กกระทำหรือประพฤติในลักษณะที่น่าจะเป็นอัตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือขัดกฏหมายอันดี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
เด็กไร้สถานะทางกฎหมาย หมายถึง เด็กที่ไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎร (ไม่มีเลขประจำตัว13หลัก)
เด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หมายถึง เด็กที่เป็น ผู้เสียหาย พยานเด็กที่ต้องหาว่ากระทำความผิด(รวมถึงอายุที่ยังไม่ถึงเกณฑ์รับผิดทางอาญา) เด็กที่กระทำความผิด
นอกจากนี้ ความหมายของเด็กเปราะบางในการทำงานของโครงการยังครอบคลุมถึง เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์ (เด็กที่มีเชื้อเอชไอวี หรือเด็กที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีแต่มีพ่อแม่มีเชื้อเอชไอวีหรืออาศัยอยู่กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี) เด็กมักจะถูกตีตราหรือเลือกปฏิบัติด้วยเรื่องเชื้อ HIV
ประสบการณ์การฝึกงานร่วมกับมูลนิธิฯ รู้สึกเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กในภาวะเปราะบางเหล่านี้ เป็นเด็กที่มีตัวตนอยู่จริงในชุมชนของเรา “ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก (เด็กไม่ใช่ตัวปัญหา) แต่เด็กกำลังเผชิญปัญหา ” ปัญหาของช่องว่างของระบบบริการ สภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม กรอบความคิดความเชื่อ ทัศนคติ โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร กฎหมาย นโยบาย ระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเด็ก จากรายงานสถานการณ์ เด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางในประเทศไทย เด็กกำพร้าในประเทศไทยมีประมาณ 8 แสนกว่า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี มีประมาณ 3 แสนกว่า ซึ่งคิดโดยเฉลี่ยแล้วใน 1 ตำบลจะมีเด็กกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 70 คน โดยเด็กในภาวะเปราะบางเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงบริการ ดังนั้นคนในชุมชน หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่จึงมีบทบาทสำคัญในการทำงาน เพื่อดูแลปกป้องคุมครองเด็ก ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เพราะชุมชนเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดเด็กและครอบครัว
จากการลงไปทำกิจกรรมพบกลุ่มเด็กนั้นก็พบว่า เด็กที่เข้าร่วมทำกิจกรรมนั้นส่วนมากจะเป็นเด็กที่มีฐานะทางบ้านยากจน กำพร้า พิการและเด็กที่มีพัฒนาการช้า ทำให้การสื่อสารระหว่างกันยากลำบาก การเลือกจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กที่มีความแตกต่างทั้งอายุ ความสนใจ สภาพปัญหาที่พบก็ยากขึ้นตามลำดับ เพราะการที่พวกเราจะทำให้เด็กๆให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม มีความสนุกสนาน เป็นที่สนใจของเด็กๆ พวกเราต้องคิดค้นรูปแบบวิธีการมากพอสมควร ในการทำกิจกรรมลงพื้นที่พบกลุ่มเด็กนั้น ทางมูลนิธิฯ ก็จะมอบหมายงานให้นักศึกษาฝึกงานดำเนินกิจกรรมในกลุ่มเด็ก มีรูปแบบเนื้อหากิจกรรมพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็ก เช่น การเขียน การท่องพยัญชนะไทย การวาดภาพ การปั้นดินน้ำมัน และเพาะถั่วงอก
ในบางพื้นที่นั้นเด็กก็อาจจะซุกซน ดื้อ ทำกิจกรรมนานๆไม่ได้ ต้องวิ่งเล่นไปมาทำให้ยากต่อการดูแล และยังมีเด็กที่มาร่วมทำกิจกรรมแต่ติดผู้ปกครองไม่สามารถห่างจากผู้ปกครองได้ต้องนำผู้ปกครองมานั่งทำกิจกรรมด้วยซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานสักเท่าไหร่เด็กก็ยังให้ความร่วมมือทำกิจกรรม การลงพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเด็กนั้นก็จะมีทั้งเหนื่อยทั้งสนุกปะปนกันไปแต่ก็ได้ประสบการณ์มากมายในการทำกิจกรรม
เด็กก็จะเรียกเราว่า “คุณครู” ทุกครั้ง (คำว่า “ครู” คำนี้ที่ได้ยินจากปากเด็กเหล่านี้ก็ทำให้รู้สึกว่าเด็กให้ความสำคัญกับเรามาก ทั้งที่เราเป็นเพียงนักศึกษาฝึกงาน ถึงแม้จะรู้สึกดีกับคำนี้ แต่อีกนัยหนึ่งกลับทำให้ฉันรู้สึกถึงช่องว่าง ความห่างเหิน การแบ่งระดับ ระหว่างเรากับเด็ก ในประสบการณ์ตอนเด็กของฉัน ฉันมีความรู้สึกว่า “ครู” นั้นคือ ผู้ที่เพียบพร้อมไปซะทุกอย่าง เป็นผู้ที่ควรให้ความเคารพรองมาจากพ่อแม่) เด็กๆจะเข้ามาสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับเรา ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันและหลังจากที่ทำกิจกรรมเสร็จ เด็กๆก็จะเขียนความรู้สึกใส่กระดาษเล็กๆให้เรา และมาถามว่า “ครูจะมาอีกไหม”
จากคำถามของเด็ก คำตอบที่ให้คือการ “ยิ้ม” ยิ้ม คือ คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการตอบคำถามในตอนนั้น เพราะถ้าเราตอบเด็กกลับไปว่าคงไม่ได้มาอีกแล้ว อาจทำให้เด็กที่มีสีหน้าที่ยิ้มแย้ม ณ ขณะนั้นสีหน้าเศร้าลงได้ แต่ถ้าเราตอบเด็กกลับไปว่า “มาอีกแน่นอน เดี๋ยวเจอกัน” แต่พอถึงเวลาจัดกิจกรรมเราไม่ได้มาพบพวกเขาอย่างที่เราบอกเด็กไว้อาจจะทำให้เด็กเสียความรู้สึก และไม่ไว้วางใจผู้คนที่อยู่ใกล้ๆเขา ฉันไม่อยากโกหกเด็กๆ ดังนั้นในตอนนี้ที่ไม่รู้ว่าจะตอบคำถามเด็กอย่างไร ก็ขอให้ยิ้มให้กันก่อนก็แล้วกัน
การฝึกงานในครั้งนี้ต้องขอขอบคุณพี่ๆมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปันทุกท่าน ที่ได้ให้การตอบรับและการดูแลในระหว่างฝึกงาน ทำให้ได้ปฏิบัติงานจริง และได้พบเห็นสภาพปัญหามากมายที่เราไม่ได้พบเห็นและรับรู้มาก่อน ทำให้ได้รับประสบการณ์ รับรู้โลก และสังคมของคนทำงานมากขึ้น ขอบคุณค่ะ….