
“เสี่ยว” ในภาษาอีสาน มีความหมายว่า “เพื่อน” ดังนั้นกลุ่มอาสาสมัครในชุมชนอำเภอเขมราฐ จึงได้เรียกตนเองว่า “เสี่ยวสุขภาพ” โดยเป็นการร่วมตัวกันของอาสาสมัครทั้งไทย และลาว เพื่อส่งเสริมให้แรงงานแม่หญิงลาวที่เข้ามาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอเขมราฐ ได้เข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น นำสู่ความยั่งยืนในการดูแลสุขภาพของแรงงานหญิงลาว ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals- SDGs) ของสหประชาชาติ ” Leave no one behind” เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เป้าหมายระดับโลก และการทำงานในระดับท้องถิ่น นั้นมาเชื่อมโยงกันได้อย่างไร โครงการนี้ ชื่อเรียกเต็มๆ ว่า ” โครงการพัฒนากลไกการทำงานแบบบูรณาการระดับอำเภอในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ(SRH)ของแรงงานหญิงลาว” ภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุขสวัสดิการและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (มสป.) โดยตัวโครงการฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างให้เกิดกลไกการเปลี่ยนแปลงใน3 ระดับ ได้แก่ 1) การสร้างให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันในระดับอำเภอ 2) กลไกการทำงานในชุมชนด้วยการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และ 3) กลไกการปรับเปลี่ยนบุคคลในระดับปัจเจกด้วยการสร้าง Health Navigator หรือ “เสี่ยวสุขภาพ”
คลิป รีวิวการทำงานของเสี่ยวสุขภาพ ในพื้นที่อำเภอเขมราฐ ในรอบปี2560 ที่ผ่านมา กลุ่มเสี่ยวสุขภาพได้มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งการเยี่ยมบ้านแรงงานในพื้นที่ การจัดตั้งศูนย์เสี่ยวสุขภาพเพื่อให้แรงงานสามารถเข้ามาพูดคุยเรื่องราวของตนเอง ขอคำแนะนำปรึกษาเมื่อตนเองเผชิญกับปัญหาสุขภาพอนามัยเจริญพันธ์ุ โดยเสี่ยวสุขภาพจะนำสถานการณ์ปัญหาที่แรงงานเผชิญเข้าสู่วงประชุมการแก้ไขปัญหารายกรณี ซึ่งในวงประชุมก็ได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมถกปัญหาและหาแนวทางการช่วยเหลือในอันดับถัดไป นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมกลุ่มสุขภาพ และการผลิตสื่อที่ตอบสนองต่อสภาพปัญหา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านความคิด ความเชื่อที่มีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมสุขภาพ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ผู้หญิงหลายๆ คนไม่กล้าไปตรวจภายใน ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างเช่น อาย คิดว่าตนเองไม่เสี่ยงต่อมะเร็ง ไม่มีสามี แก่แล้วไม่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งนั้นคือสาเหตุทำให้เสี่ยวสุขภาพต้องการผลิตสื่อคลิป เรื่องการตรวจภายใน เพื่อให้ผู้หญิงไม่กลัว ไม่กังวล เรื่องการตรวจภายในอวัยวะเพศของตนเอง
แรงงานหลายคนไม่อยากไปโรงพยาบาล ด้วยสถานะของตนเองที่ไม่มีบัตร ประกอบกับความไม่เข้าใจในระบบการรักษาของโรงพยาบาล คิดว่าไปโรงพยาบาลเสียเวลารอนาน ทำให้เลือกรับการรักษาในคลินิก ซื้อยากินเอง กินยาตามคำโฆษณาวิทยุ หรือกินยาสมุนไพร เมื่อเวลาผ่านไปทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การรักษาในระบบมีความยากลำบากเพิ่มมากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้น ดังนั้นคลิปเรื่อง เสี่ยวสุขภาพ ตอน ไปโรงพยาบาลกัน จึงได้นำเสนอลำดับการไปรับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐ เพื่อให้แรงงานมีความเข้าใจในระบบการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล ถึงแม้นจะใช้เวลาในการรอรับบริการตามลำดับคิวบริการ แต่มั่นใจได้ว่าค่าใช้จ่ายไม่แพง ไม่ถูกหลอกแน่นอนคะ
ความสำเร็จในการดำเนินงาน “เกิดเครือข่าย”การดำเนินงานในระดับชุมชนโดยมีเสี่ยวสุขภาพเป็นผู้ประสาน เชื่อมต่อแรงงานลาวในชุมชน สู่ การให้บริการสุขภาพและเครือข่ายการดำเนินงานในองค์กรภาครัฐต่างๆ “เกิดเสี่ยวสุขภาพ” มีทักษะวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และสามารถให้คำปรึกษาและจัดกิจกรรมกลุ่มสุขภาพ ให้ความรู้ด้านอนามัยเจริญพันธ์แก่แรงงานหญิงลาวได้ ทำให้แรงงานหญิงลาวในชุมชนมีที่ปรึกษา ได้รับการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์อย่างไว้ใจทำให้สามารถเชื่อมแรงงานหญิงลาวเข้ากับเจ้าหน้าที่ได้ และสามารถลดช่องว่างในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของพวกเขาอีกด้วย
