เสี่ยวสุขภาพ

ภาพพิธีลงนามความร่วมมือการดำเนินกิจกรรมโครงการระหว่างสาธารณสุขแขวงจำปานัก สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และ ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุขสวัสดิการและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี

“เสี่ยวสุขภาพ”  “เสี่ยว” ในภาษาอีสาน หมายถึงเพื่อน  เสี่ยวสุขภาพในที่นี้หมายถึง เพื่อนในการดูแลสุขภาพ โดยความเป็นมาของโครงการนี้ได้เกิดขึ้นจากปี 2558 โดยการมีส่วนร่วมดำเนินการโครงการ ” การพัฒนาเครือข่ายการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ (Sexuality and Reproductive Health -SRH) ของแรงงานหญิงลาว ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนทุนการทำวิจัยจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่อำเภอสิรินธร อำเภอโขงเจียม อำเภอบุณฑริก อำเภอนาตาลและอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่เมษายน ๒๕๕๘- กันยายน ๒๕๕๙  โดยความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุขสวัสดิการและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (มสป.) โดยการดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดโครงการต่อเนื่อง คือ โครงการพัฒนากลไกการทำงานแบบบูรณาการระดับอำเภอในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ (SRH)ของแรงงานหญิงลาว โดยมีความเป็นมาโครงการดังนี้ 

ความเป็นมา

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558(กรมอาเซียน, 2559)  โดยการเปิดประชาคมอาเซียนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตด้านการค้าและการลงทุน อันนำมาซึ่งการขยายตัวของสังคมเมือง เกิดเขตเศรษฐกิจขึ้นในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะตามแนวชายแดน อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูด (Pull Factor) ให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานใหม่ (Unskilled labour) เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและภาคบริการมากขึ้น การย้ายถิ่นของแรงงานส่วนใหญ่นั้นมีแรงผลัก (Push Factor)   มาจากความยากจนทำให้แรงงานตัดสินใจที่จะออกนอกประเทศเพื่อหารายได้ ซึ่งอัตราการย้ายถิ่นออกนอกประเทศของผู้หญิงเพื่อเป็นแรงงานในต่างประเทศมีอัตราที่สูงขึ้นโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติหญิงลาวและกัมพูชา มีอัตราสูงขึ้นถึง3 เท่าในปี 2547 (จากในปี 2541 มีแรงงานข้ามชาติผู้หญิงสัญชาติ พม่า กัมพูชาลาว ที่มารายงานตัวคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้เท่ากับ 32% 8 % และ 18% ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขในปี 2547 แรงงานหญิงได้เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในแรงงานหญิงสัญชาติกัมพูชาและลาวซึ่งมีตัวเลขดังนี้  32% และ 55% ตามลำดับ) (กฤตยา อาชวนิจกุล, 2548) จากข้อมูลนี้ยังไม่รวมแรงงานข้ามชาตินอกระบบที่คาดประมาณได้ถึง 2 ล้านคน (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, 2556) เนื่องด้วยการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและมีระบบที่ซับซ้อน ทำให้แรงงานหญิงบางส่วนเลือกที่จะเสี่ยงเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและไม่มีใบอนุญาตทำงานโดยเฉพาะในบริบทบริเวณเขตชายแดนไทย-ลาว ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายไป-มาตลอดเวลาเนื่องด้วยประเทศไทยและลาวมีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันผนวกกับการเดินทางสะดวก จึงทำให้แรงงานลาวเลือกที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพ การขาดความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศตนเอง ไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคนหรือสร้างเครือข่ายในบริเวณเขตชายแดนให้มีความเข้มแข็งมีมาตรการดูแลแรงงานหญิงลาวอย่างเป็นรูปธรรม เป็นผลทำให้เกิดโครงการ การพัฒนาเครือข่ายการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ (SRH) ของแรงงานหญิงลาวดำเนินการโดยศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการ และสังคมในช่วงปี พ.ศ. 2557 – 2559 โดยจากโครงการดังกล่าว ได้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายในจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อดูแลเรื่องสุขภาพ อนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศของแรงงานหญิงลาว ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ในระบบบริการสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์การบริหารส่วนตำบล ตำรวจ บ้านพักเด็กและครอบครัวและสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุบลราชธานี โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดนี้มีทั้งหมด 47 คน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อดูแลแรงงานหญิงลาวในอำเภอ ซึ่งการพัฒนาเครือข่ายดังกล่าวนั้นพบว่า เกิดการขยายเครือข่ายในชุมชนโดยมีการดึงอาสาสมัครในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น โดยเครือข่ายในระดับท้องถิ่นนั้นมีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนให้เกิดการดูแลและตระหนักเรื่องสุขภาพของแรงงานหญิงลาวในชุมชนและตัวแรงงานหญิงลาวเองได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น เช่น แรงงานหญิงลาวบางส่วนสนใจซื้อบัตรประกันสุขภาพเพื่อใช้ในการดูแลรักษาตนเอง, กล้าที่จะพูดคุยสอบถามปัญหาสุขภาพกับเจ้าหน้าที่เครือข่ายฯ มากขึ้น

แต่จากการพัฒนาเครือข่ายในโครงการ การพัฒนาเครือข่ายการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ(SRH) ของแรงงานหญิงลาว นั้น ถึงแม้จะมีการจัดกิจกรรมดูแลแรงงานหญิงลาวในชุมชนมากขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมจากชุมชนมากขึ้น และแรงงานหญิงลาวได้รับการดูแลสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และรับรู้เรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิจากบัตรประกันสุขภาพมากขึ้น แต่ลักษณะการทำงานของเครือข่ายยังขาดความต่อเนื่องและยังไม่เป็นการบูรณาการจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง โดยเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ที่เจ้าหน้าที่ในระบบบริการสุขภาพและภาคประชาสังคม ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาเครือข่ายสามารถดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง และสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายในระบบภาครัฐอื่นๆ และจากภาคเอกชนรวมถึงภาคชุมชนอย่างแท้จริง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ   1) สร้างกลไกในระดับอำเภอให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมสร้างแผนงาน และร่วมกันผลักดันเชิงนโยบาย สร้างให้เกิดคนทำงานในพื้นที่มีการพบปะและกำหนดแผนงานร่วมกัน เปิดพื้นที่ให้ทุกเครือข่ายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดการทำงานร่วมกัน เช่น มีการจัดประชุม case conference อย่างที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งจะสร้างให้ทุกภาคส่วนในอำเภอเกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์ในอำเภอแบบบูรณาการ มีการจัดกิจกรรมการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของเครือข่าย เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกลยุทธ์ในการทำงานร่วมกัน รวมถึงสร้างให้เกิดการรวมกลุ่มวางแผนและผลักดันเชิงนโยบาย โดยการสร้างกลไกที่เป็นรูปธรรมในระดับอำเภอนั้นจะเป็นจุดเชื่อมโยงไปถึงกลไกระดับจังหวัดให้มีการขับเคลื่อนได้โดยมีฐานคณะทำงานในระดับอำเภอที่มีความเข้มแข็ง

และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นไปอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ และสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมจากชุมชนอย่างแท้จริงจึงมีความจำเป็นต้อง 2) พัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายในชุมชน เนื่องจากการศึกษาพบว่า ชุมชนยังมีภาพลักษณ์ของแรงงานหญิงลาวว่า “มาเอาผัวไทย” “มาขายตัว” และ “แย่งงานคนไทยทำ” ทำให้เกิดการเกลียดชัง และการกีดกันแรงงงานหญิงลาวให้ไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน  โดยการพัฒนาความเข้มแข็งในชุมชนนั้นจะเป็นการเสริมสมรรถภาพให้ชุมชนมีทัศนคติที่ดีต่อแรงงานหญิงลาว มีความรู้ความเข้าใจแรงงานหญิงลาวมากขึ้นลดอคติต่อแรงงานหญิงลาว สามารถมีส่วนร่วมและเป็นจุดเชื่อมสำคัญในการขับเคลื่อนด้านนโยบายทั้งยังเป็นผู้ปฏิบัติการในชุมชนด้วย มีความสามารถในการดูแลแรงงานหญิงลาว โดยการพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายในชุมชนนั้นจะเป็นการสร้างให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน มีพื้นที่ของการพบปะ สื่อสารและขยายองค์ความรู้ในชุมชน สร้างให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการดูแลแรงงานหญิงลาว สร้างให้ทุกคนในชุมชนรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกัน และมีการดำเนินกิจกรรม แก้ปัญหาและส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง อันนำไปสู่การเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้

ซึ่งการเป็นชุมชนที่เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้นั้น ชุมชนจะต้องมีปัจเจกบุคคลคนในชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และกล้าที่จะลุกขึ้นมาเป็นผู้กระทำการ (agency) ในการดูแลสุขภาพตนเองและคนรอบข้างได้ด้วย จึงมีความจำเป็นต้อง 3) สร้าง Health Navigator ในชุมชน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาด้านปัจเจก สร้างให้บุคคลปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีความสามารถเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพ ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพในชุมชน เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขและมีความสามารถในการเสริมพลังอำนาจ (empowerment)ให้แรงงานหญิงลาวและคนในชุมชนสามารถเป็นเจ้าของร่างกายตนเอง ในฐานะผู้ที่มีสิทธิทางเพศ สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และกล้าที่จะเรียกร้องสิทธิการได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง โดยHealth Navigator ในชุมชนนั้นจะประกอบไปด้วยผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชน โดยจะเน้นไปที่การเปิดกว้างให้โอกาสกับทุกคนในชุมชนทั้งคนไทยและคนลาวที่มีจิตอาสาที่เป็นเจ้าของประเด็นในชุมชนให้สามารถเป็น Health Navigator ได้ โดยอาสาสมัครที่เป็นคนไทยนั้นสามารถที่จะพัฒนามาจาก อสม. ในชุมชนและต่อยอดเป็น Health Navigator ได้ แต่ต้องเป็นด้วยความสมัครใจและมีจิตอาสาอย่างแท้จริง เนื่องจากงาน อสม.และ Health Navigator จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน [รายละเอียดเพิ่มเติมในนิยามเชิงปฏิบัติการ หน้า 14-15]โดย Health Navigatorจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายในระดับอำเภอซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคมและเอกชน เพื่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพแรงงานหญิงลาวในชุมชน โดยเครือข่ายในระดับชุมชนนี้จะได้รับการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานหญิงลาวในแต่ละชุมชนได้ และยังจะได้รับการฝึกให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะให้กับชุมชนเพื่อลดอคติต่อแรงงานหญิงลาวในชุมชน สร้างให้เกิดขับเคลื่อนด้านสุขภาพในชุมชน และผลักดันให้เกิดการดำเนินกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องในชุมชน

โดยสรุปแล้วมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดกลไกการเปลี่ยนแปลงใน3 ระดับ ได้แก่ 1) การสร้างให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันในระดับอำเภอ 2) กลไกการทำงานในชุมชนด้วยการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และ 3) กลไกการปรับเปลี่ยนบุคคลในระดับปัจเจกด้วยการสร้าง Health Navigator เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ ยังมีการทำงานในลักษณะเชิงสายงาน ไม่มีการบูรณาการและร่วมมือระหว่างกันเท่าที่ควร เครือข่ายในระดับอำเภอยังขาดกลไกที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดการร่วมมือกันทำงานอย่างแท้จริงนอกจากนั้นในแต่ละชุมชนยังขาดความเข้มแข็ง ไม่มีการทำงานร่วมกัน และที่สำคัญแรงงานหญิงลาวในชุมชนยังต้องการที่ปรึกษาที่จะสามารถให้คำแนะนำและสร้างความไว้วางใจให้กับแรงงานหญิงลาวได้ โดยมีรายละเอียดปัญหาและความต้องการตามบริบทแรงงานข้ามหญิงลาวข้ามชาติตามแต่ละอำเภอ

แนวคิดในการทำงาน:

  1. นำประเด็นปัญหาและความต้องการด้านอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศที่มีความเฉพาะของแรงงานในแต่ละกลุ่มและในพื้นที่แต่ละอำเภอ มาสร้างให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมด้วยเครือข่ายคณะทำงานระดับชุมชนซึ่งมีแรงงานหญิงลาวเป็นหนึ่งในคณะทำงานระดับชุมชนด้วยแนวคิดCommunity Health Navigator (Hou & Roberson, 2015) ซึ่งเป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างแกนนำ/เครือข่าย ที่จะทำให้เกิดการสนับสนุนให้บุคคล (กลุ่มผู้ป่วยโรคร้ายแรง, การตรวจคัดกรองมะเร็งต่างๆ, กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มคนเปราะบางต่างๆ) สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพตามหลักสิทธิมนุษยชน เกิดการเข้าสู่กระบวนการรักษาและได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีผลการรักษาที่ดีขึ้นหรือมีสุขภาวะที่ดีขึ้น(Corrigan, Pickett, Batia, & Michaels, 2014)โดยใช้กลยุทธ์ในการเสริมพลังอำนาจ (empowerment) ให้แกนนำ/เครือข่ายมีศักยภาพ มีองค์ความรู้ในเรื่องสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ สามารถดูแลตนเองและแรงงานหญิงลาวในชุมชนคนอื่นๆ ได้ มีความสามารถในการเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพในชุมชน สามารถทำหน้าที่เป็น Health Navigator รวมถึงสามารถเป็นนักสื่อสารสุขภาวะในชุมชนทำให้แรงงานหญิงลาวในชุมชนมีสุขภาวะที่ดีขึ้นและสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นและสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชนของแรงงานหญิงลาวในชุมชนมากขึ้นด้วย
  2. สร้างทัศนคติเชิงบวกและความเข้าใจต่อแรงงานข้ามชาติหญิงลาวที่มีความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ความเชื่อ และอาชีพต่างๆ กับคนในชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐในชุมชน เพื่อลดการตีตรา ดูถูก เหยียดหยาม (social discrimination) และกีดกัน รวมถึงการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานหญิงลาว ให้กับเครือข่ายในระดับอำเภอและระดับชุมชนเพื่อสร้างให้เกิดการดำเนินกิจกรรม/ปฏิบัติงาน/ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย กับแรงงานหญิงลาวในฐานะประชากรที่เป็นส่วนหนึ่งในชุมชนและปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเท่าเทียมมีศักดิ์และศรีความเป็นมนุษย์เช่นกันกับคนไทย ด้วยเทคนิคและกระบวนการแบบกิจกรรมที่สร้างให้เกิดการมีประสบการณ์ร่วมด้วยกระบวนการฟังอย่างลึกซึ้ง และไม่ตัดสิน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมการเล่าเรื่อง บทบาทสมมติ และใจเขาใจเรา เพื่อสร้างให้คนไทยในชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐในชุมชนเกิดความรู้สึกร่วม รับรู้ถึงความทุกข์ยากและมีความต้องการที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือแรงงานหญิงลาวที่ตกอยู่ในภาวะทุกข์ทนและมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตในชุมชน ไม่ควรถูกตัดสิน ตีตราเนื่องจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์
  3. พัฒนาภาคีเครือข่ายตามแนวคิดการพัฒนาทียั่งยืน มาใช้ในการดำเนินงานโดยไม่เน้นการดำเนินงานในลักษณะสั่งการ เปิดโอกาสให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมคิดร่วมสร้างให้เกิดกิจกรรมที่จะพัฒนาชุมชนร่วมกันอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาที่ก่อให้คนในชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของประเด็น (owner) สร้างสำนึกแรงบันดาลใจและสร้างความต้องการที่จะพัฒนาชุมชนร่วมกันระหว่างคนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนสามารถรวมกลุ่มกันได้ จะนำไปสู่การต่อยอดพัฒนาในเรื่องอื่นๆ ต่อไปไม่ว่าจะเป็นด้าน สังคม วัฒนธรรมจิตใจ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไป เช่นเดียวกับ Health navigator ในชุมชนที่มีความสามารถและมีความรู้เรื่องสุขภาพและเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ ซึ่งถึงแม้โครงการจะจบแล้ว แต่ผู้คนเหล่านี้ยังคงอยู่ในชุมชน สามารถที่จะเป็นที่ปรึกษาในชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยังสามารถเป็นผู้นำกลุ่มสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฝนชุมชนในเรื่องต่างๆ ตามที่กล่าวมาได้อีกด้วย

พื้นที่ดำเนินการ  

อำเภอเขมราฐ อำเภอสิรินธร และอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ:

          1 ตุลาคม2559 – 31 มีนาคม2561 (18เดือน)