โครงการส่งเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในงานพัฒนาและคุ้มครองเด็กและครอบครัว
เด็กและเยาวชนของเราทุกวันนี้ น่าห่วงเพียงใด ?
จากการเก็บข้อมูลเรื่องเด็กในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา พบว่า ๑ ใน ๓ ของเด็กอายุน้อยกว่า ๕ ปี มีพัฒนาการที่ล่าช้าและส่งผลให้คะแนนEQ กับIQของเด็กช่วงวัยเรียนอายุ ๖-๑๑ ปีลดลงในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา เด็กที่คะแนน EQ กับIQ ต่ำนั้น ส่วนหนึ่งพบว่าเด็กอยู่ในครอบครัวที่ยากจน พ่อแม่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่และ ฝากลูกไว้ให้ผู้ดูแลคนอื่นเลี้ยงซึ่งมักเป็นผู้สูงอายุ โดยให้ศูนย์เด็กเล็กเป็นผู้ดูแลในช่วงกลางวัน ซึ่งศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่ ครูพี่เลี้ยงก็ยังมีขีดความสามารถที่จำกัดในการทำงานเรื่องคัดกรอง/ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก รวมทั้งการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ขณะเดียวกันในกลุ่มวัยรุ่น พบว่าสถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและแม่วัยรุ่นยังมีตัวเลขที่สูง วัยรุ่นกลุ่มนี้ยังต้องการการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงยังเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อการพัฒนาเด็กคือสภาพครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป คนหนุ่มสาวมีลูกแล้วฝากไว้ให้ปู่ย่าตายายหรือคนอื่นๆเลี้ยง ทำให้เห็นปัญหาด้านผู้ดูแลที่ขาดทักษะการดูแลเด็ก ประกอบกับระบบบริการสาธารณสุขในส่วนบริการด้านจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่ยังไม่ครอบคลุม และไม่เอื้อให้เด็กได้เข้าถึงบริการ จากสถานการณ์ดังกล่าวแม้ว่าหน่วยงานรัฐจะหามาตรการมาดูแลแก้ไข แต่ก็ยังไม่ทันต่อสถานการณ์
คำตอบเรื่องนี้ อยู่ที่ไหน ?
คำตอบอยู่ที่ชุมชนและท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชน ดังนั้นมูลนิธิแพธทูเฮลท์ร่วมกับมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาและมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน จึงดำเนิน โครงการ “ท้องถิ่นเพื่อน้อง” เพื่อส่งเสริมให้เกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่มีความสนใจในสถานการณ์เด็กและเยาวชน พร้อมสนับสนุนให้ชุมชน ,องค์กรสาธารณประโยชน์ เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน นอกจากประโยชน์จะเกิดแก่เด็กและเยาวชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดูแลท้องถิ่น เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนในการปกครองตนเองอย่างแท้จริง
วัตถุประสงค์โครงการ
๑. สนับสนุนให้องค์กรชุมชนมีบทบาทในการทำงานส่งเสริมพัฒนาการและการคุ้มครองเด็กและครอบครัว
๒. พัฒนาคุณภาพบริการส่งเสริมพัฒนาการและคุ้มครองเด็กให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย และเอื้ออำนวยให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงบริการให้มากที่สุด
๓. ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เกื้อหนุนชุมชนในการทำงานส่งเสริมพัฒนาการและคุ้มครองเด็กและครอบครัว
ระยะเวลาโครงการ ๓ ปี ( มกราคม ๒๕๕๘ ถึง ธันวาคม ๒๕๖๑ )
กลุ่มเป้าหมาย
๑. เด็กอายุ ๐-๑๘ ปี จำนวน ๘,๐๐๐ คน เด็กในภาวะเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน จำนวน ๘๐๐ คน แกนนำเยาวชน จำนวน ๒๐๐ คน และพ่อแม่ผู้ดูแลเด็ก จำนวน ๘,๐๐๐ คน
๒. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.)ในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน ๘ แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบของอปท.ที่หนุนช่วยชุมชนในการทำงานพัฒนาเด็กและครอบครัว
พื้นที่ดำเนินงาน
๑. ต.แม่กา ต.บ้านสาง ใน อ.เมือง, ต.ป่าซาง ต.ห้วยลาน ใน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา
๒. ต.หัวนา ต.เขมราฐ ใน อ.เขมราฐ ต.นาพิน ต.คอนสาย ใน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
กิจกรรม
- จัดตั้งคณะทำงานเด็กในชุมชน
- จัดบริการคัดกรอง ส่งเสริมพัฒนาการ และคุ้มครองเด็กในชุมชน
- สร้างแกนนำเยาวชน จัดค่ายพัฒนาแกนนำเยาวชน
- เยี่ยมบ้านเด็กและครอบครัว
- อบรมเสริมศักยภาพคนทำงานและติดตามหนุนเสริมอย่างต่อเนื่อง, จัดประชุมหารือกรณีศึกษา ( case conference )
- จัดตั้งคณะทำงานจังหวัด ( Provincial Advisory Group ) เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่และร่วมผลักดันประเด็นในระดับนโยบาย
- ถอดบทเรียนการทำงานเพื่อขยายจำนวนอปท.ต้นแบบ และสื่อสารเพื่อผลักดันนโยบายและแนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพ ทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศ
- ประเมินผลการทำงานโครงการ ทั้งในแง่ผลสัมฤทธิ์ ในเชิงคุณภาพและปริมาณ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. เกิดอปท.ต้นแบบ ที่หนุนช่วยให้ชุมชนทำงานส่งเสริมพัฒนาการและคุ้มครองเด็ก
๒. เด็กอายุ ๐-๑๘ ปี เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและแกนนำเยาวชน ได้รับการพัฒนาเพื่อมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลเด็กที่เล็กกว่า
๓. ผู้ให้บริการด้านจิตสังคมในเรื่องเด็ก ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดบริการและพัฒนาเครือข่ายส่งต่อ
๔. องค์กรชุมชนได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากอปท.ในฐานะหน่วยขับเคลื่อนงานด้านส่งเสริมพัฒนาการและคุ้มครองเด็ก ทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย
ผู้ประสานงานในพื้นที่
จังหวัดพะเยา ลาภิศ ฤกษ์ดี โทร.๐๘๔-๙๔๘-๙๒๘๕ วาสนา พรมเสนา โทร.๐๘๙-๗๑๗-๒๒๑๙
จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเขมราฐ บุญถม ชะนะกาล โทร.๐๘๓-๗๔๒-๐๕๐๓ และ
อำเภอตระการพืชผล รังสิมา จันทรจำนง โทร.๐๘๑-๖๙๕-๒๘๖๑
ผู้ประสานงานส่วนกลาง
ผกามาศ อาจพูล โทร.๐๘๐-๕๒๔-๗๗๗๘,๐๒-๖๕๓-๗๕๖๓-๕ อีเมล์ phakamas@path2health.or.th