โครงการป้องกันท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น ในสถานศึกษา

%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%871

%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%873

%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%872

โครงการป้องกันท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น ในสถานศึกษา 

หลักการและเหตุผล

          ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาของการพัฒนาประเทศไทย การดำเนินชีวิตของคนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการดำเนินชีวิตประจำวัน สภาพการแข่งขันและสภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม จารีตและประเพณีที่ปรับเปลี่ยนไป สภาวะความทันสมัย ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ครอบงำทุกคนให้เน้นวัตถุนิยม พ่อแม่หลายคนละทิ้งบุตรหลานไว้กับคนแก่เพื่อไปทำงานหารายได้ที่เมืองกรุง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป การเรียนรู้ของวัยรุ่นในยุคปัจจุบันจึงเป็นเพียงการลอกเลียนแบบพฤติกรรมผ่านเทคโนโลยีสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ เช่น เฟสบุ๊ค โดยขาดการวิเคราะห์ พิจารณา ที่เท่าทันและเหมาะสม ซึ่งส่วนหนึ่งผู้ดูแลที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ก็ไม่เท่าทันต่อความสมัยใหม่ เพราะเติบโตในวัฒนธรรมการสอนที่แตกต่างกัน ส่งผลให้พฤติกรรมทางเพศในกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนจำนวนมากยังไม่มีความรู้ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเพศ (gender) ที่เหมาะสมและขาดทักษะการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง โดยวัยรุ่นไม่ได้รับการจัดการเรียนรู้เพศศึกษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง การขาดความเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิดที่ถูกวิธีและปลอดภัย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเมื่อต้องอยู่กับเพศตรงข้ามตามลำพัง ส่งผลให้มีเพศสัมพันธ์ไม่พร้อมและขาดการป้องกัน เด็กผู้หญิงหลายคนถูกล่อลวงไปข่มขืนและอนาจารทางเพศ เงื่อนไขดังกล่าวนำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนนับเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงและส่งผลต่อสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

สถานการณ์และแนวโน้มแม่วัยรุ่นขณะนี้น่าเป็นห่วงยิ่ง “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันทุก 4 นาทีมีวัยรุ่นคลอดลูก 1 คน ที่แย่ไปกว่านั้น คือ ทุก 2 ชั่วโมง มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดลูก 1 คน นั่นหมายความว่าปัจจุบัน ทารกทุก 1 ใน 6 เกิดจากแม่ที่ยังเป็นเด็กหรือวัยรุ่น” (แหล่งที่มา: นายคาสปาร์ พีค, ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย) และ องค์การยูนิเชฟ แห่งประเทศไทยได้รายงานการคลอดบุตรของวัยรุ่นทั่วโลกที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี มีค่าเฉลี่ยที่ 65 คนต่อหญิงในวัยเดียวกัน 1,000 คน หรือราวร้อยละ 6.5 แต่สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลสถิติของ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2555 พบว่าอัตราการตั้งครรภ์ในแม่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีมากถึง 133,027 คน คิดเป็นร้อยละ 16.59 ที่สำคัญอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวน 3,707 คน หรือร้อยละ 0.46 ซึ่งมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่จะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อปัญหาอัตราทารกแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 2,500 กรัม (2.5 กิโลกรัม) ที่พบมากถึงร้อยละ 8.7 ซึ่งมากกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้จะต้องไม่เกินร้อยละ 7 ทั้งนี้ประเทศไทยมีการคลอดบุตรจากแม่ที่เป็นวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี วันละประมาณ 370 ราย วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี เฉลี่ยวันละ 10 คน และวัยรุ่นที่อายุน้อยที่สุดที่มาคลอดบุตรคืออายุเพียง 10 ปี ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราเฉลี่ยของแม่วัยรุ่นสูงที่สุดในเอเชียและเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากแอฟริกาใต้  นอกจากนี้ยังพบว่าสถิติร้อยละ 65 ของวัยรุ่นไม่รู้วิธีคุมกำเนิดและไม่รู้วิธีการป้องกันโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นำไปสู่ปัญหาสุขภาวะอื่นตามมาเช่น การทำแท้งเถื่อน ซึ่งไทยก็ถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการทำแท้งสูงที่สุดในโลก ในปี 2554 อัตราการทำแท้งทั้งหมด 300,000 คนต่อปี โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มวัยรุ่นถึง 45,000 คน (มูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรีแห่งประเทศไทย, http://womenhealth.or.th)  สอดคล้องกับการศึกษาของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ชี้ให้เห็นว่าร้อยละ 80 ของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ และเป็นการตั้งครรภ์นอกสมรส ในกลุ่มที่มีการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นนี้ร้อยละ 30 จบลงด้วยการทำแท้ง และมีถึงร้อยละ 15 ทำแท้งด้วยตนเอง

แม่วัยรุ่นกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีรายงานว่าในปี 2557 (ตค.56-กย.57) มีจำนวนแม่วัยรุ่นที่มีอายุ 13-20 ปี จำนวน 3,573 คน ทั้งนี้ในพื้นที่ชายแดนอำเภอเขมราฐ มีแม่วัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปีมาคลอดจำนวน 209 คน เป็นอันดับสองรองจากโรงพยาบาลจังหวัด จากสถิติดังกล่าว จึงควรดำเนินการแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่นให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสด้วยความที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากเด็กทั่วไปทำให้การเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในภาวะเปราะบาง เช่น เด็กที่เกิดจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนพ่อแม่ย้ายไปทำงานต่างถิ่นทำให้ไม่มีคนดูแล/พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่ยังเล็ก  เด็กกำพร้า  เด็กติดเชื้อหรือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จากสภาวะปัญหาที่บีบคั้นเหล่านี้ล้วนผลักดันให้วัยรุ่นง่ายต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ไม่มีความรู้ในการคุมกำเนิด ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และประสบกับสภาพปัญหาที่ซ้ำซ้อนมีความยุ่งยากต่อการแก้ไขยิ่งขึ้น อาทิเช่น วัยรุ่นผู้หญิงต้องหยุดเรียนเพื่อเลี้ยงลูกทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และแพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่น หย่าขาดจากคู่  เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องการเรียนรู้ สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูไม่ดี ข้อจำกัดด้านร่างกาย ฐานะทางเศรษฐกิจยากจน ทำให้ขาดความรู้ที่รอบด้าน เรื่อง อนามัยเจริญพันธ์และการป้องกัน ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปันได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลเด็กภาวะยากลำบาก ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กโดยชุมชน (CHILDLIFE) พื้นที่ตำบลเขมราฐ พบว่ามีเด็กอยู่ในสภาวะยากลำบาก มีจำนวน 154 คน และมีเด็กหญิงอายุ 12 ปี คลอดบุตรที่โรงพยาบาลเขมราฐ นอกจากนี้ยังมีนักเรียนที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยเรียนไม่มีที่ปรึกษา ครอบครัวแตกแยก ตัดสินใจผูกคอตายเพื่อหนีปัญหาจำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงและปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใครได้มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ดังนั้นจากประสบการณ์ในการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน(มสป.) ที่เคยดำเนินงานด้านการป้องกันปัญหาโรคเอดส์ อนามัยเจริญพันธ์ ทักษะชีวิตในเด็กเยาวชนอายุ 12-24 ปี ที่ผ่านมาทำให้เราไม่อาจละเลยกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ดังนั้น มูลนิธิ ฯ จึงได้ร่วมกับคณะทำงานเด็กในชุมชนตำบลเขมราฐ ดำเนินกิจกรรม โครงการป้องกันท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น ในสถานศึกษา พื้นที่เทศบาลตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

เป้าหมายหลัก  เพื่อลดจำนวนหญิงตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 20 ปีรายใหม่ ที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นในสถานศึกษา พื้นที่เทศบาลตำบลเทพวงศา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

วัตถุประสงค์โครงการ

  • เพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นมีทักษะชีวิต เช่น ทักษะในการป้องกันตัวเอง ทักษะการคิด การวิเคราะห์ ทักษะการต่อรอง ทักษะการปฏิเสธ และมีความมั่นใจในตัวเองในการป้องกันท้องไม่พร้อม
  • เพื่อประสานความร่วมมือกับเครือข่ายในการทำงานป้องกันท้องไม่พร้อมสำหรับกลุ่มวัยรุ่นในสถานศึกษา ร่วมกับเครือข่ายอื่นในชุมชน 

พื้นที่ดำเนินการ โรงเรียนขยายโอกาส จำนวน 5 แห่ง

วิทยาลัยเอกชน จำนวน 1 แห่ง   ในพื้นที่ ต.หัวนา อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

กลุ่มเป้าหมายดำเนินการ

  • นักเรียน/นักศึกษา จำนวน 300 คน
  •  ผู้ปกครองนักเรียน/นักศึกษา จำนวน 150 คน
  • เครือข่ายการทำงาน จำนวน 10 คน

รวมจำนวน 460 คน

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ

  • ระยะเตรียมการ เดือนมกราคม 2559
  • ประสานงานสถานศึกษา โรงเรียน
  • เตรียมกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรม
  • ประชุมทีมงาน และ กำหนดเนื้อหาในการอบรมป้องกันท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น ในสถานศึกษา

ระยะดำเนินการ                มกราคม 2559 – มิถุนายน 2559

ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน

  • วิเคราะห์แหล่งเสี่ยง สถานการณ์ปัญหาในกลุ่มวัยรุ่น ร่วมกับกลุ่มเป้าหมายโครงการ ทำแผนที่แหล่งเสี่ยง เพื่อประเมินสถานการณ์ปัญหาโดยวัยรุ่นอย่างมีส่วนร่วมให้เกิดการคิดวิเคราะห์และทำแผนที่ร่วมกัน
  • พัฒนาศักยภาพกลุ่มวัยรุ่น และ สร้างการยอมรับสร้างคุณค่าในตัวตน ให้มีความมั่นใจ มีทักษะชีวิต และมีความเท่าเทียมในเรื่องเพศในกลุ่มวัยรุ่น ส่งเสริมให้วัยรุ่นมีความมั่นใจในการสื่อสารเรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้อง
  • ให้ข้อมูลเรื่องอนามัยเจริญพันธ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การป้องกัน ที่ถูกต้อง เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อกลุ่มวัยรุ่น
  • ให้ข้อมูลเรื่องอนามัยเจริญพันธ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การป้องกัน ที่ถูกต้อง เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อกลุ่มผู้ปกครองให้เกิดการส่งเสริมกลุ่มวัยรุ่นในการป้องกันตัวเอง และส่งต่อข้อมูลไปยังเครือข่ายการทำงานในชุมชนเพื่อขอรับการช่วยเหลือ
  • จัดตั้งทีมงานการทำงานป้องกันท้องไม่พร้อมร่วมกับสถานศึกษาเพื่อสร้างเครือข่ายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในระดับตำบล

กระบวนการ/วิธีการ

  • วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาเรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นในสถานศึกษา โดยการแบ่งกลุ่มย่อย
  • คัดกรองกลุ่มเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาส จำนวน 5 แห่ง นักศึกษาวิทยาลัย จำนวน 1 แห่ง รวมจำนวน 300 คน เพื่อเข้ารับการอบรม การสื่อสารเรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ การป้องกัน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์วัยรุ่นท้องไม่พร้อม ในพื้นที่ตำบลเขมราฐ
  • คัดกรองกลุ่มเป้าหมาย ผู้ปกครองวัยรุ่น จำนวน 150 คน เพื่อเข้ารับการอบรม การสื่อสารเรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ การป้องกัน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์วัยรุ่นท้องไม่พร้อม ในพื้นที่ตำบลหัวนา
  • ให้ความรู้เรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทักษะชีวิต ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม และส่งเสริมให้วัยรุ่นเป็นผู้สื่อสาร
  • สร้างคุณค่าพลังอำนาจภายในให้แก่วัยรุ่นให้มีความมั่นใจในตัวเอง เพื่อให้มีทักษะในการปฏิเสธ การต่อรอง การป้องกันอย่างปลอดภัย
  • ประชาสัมพันธ์ในเรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ผ่านสื่อสาธารณะ โดยกลุ่มวัยรุ่นเป็นอาสาสมัครในการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงช่องทางในการเข้าถึงสื่อที่หลากหลายและเหมาะสมกับกลุ่มวัยรุ่นในชุมชน
  • ประเมินผลติดตามความคืบหน้ากิจกรรมโครงการหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมและรายไตรมาส กับกลุ่มวัยรุ่น และภาคีเครือข่ายการดำเนินงาน

 

 ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • วัยรุ่นที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้เรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 หลังเข้ารับการอบรม
  • ผู้ปกครองวัยรุ่นที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้เรื่องเพศ อนามัยเจริญพันธ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 หลังเข้ารับการอบรม
  • กลุ่มวัยรุ่นมีทักษะชีวิต เข้าถึงเครื่องมือในการป้องกันตัวเอง ป้องกันท้องไม่พร้อมให้ปลอดภัยในเรื่องเพศ
  • ผู้ปกครองเข้าใจสถานการณ์ปัญหา และให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาวัยรุ่นท้องไม่พร้อมในพื้นที่ตำบลหัวนา
  • กลุ่มวัยรุ่นและผู้ปกครอง มีความรู้ความเข้าใจเรื่องอนามัยเจริญพันธ์ เพศศึกษา และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง
  • มีเครือข่ายการทำงาน เรื่องอนามัยเจริญพันธ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การป้องกันท้องไม่พร้อมในระดับตำบลหัวนา
  • แกนนำในชุมชน วัยรุ่น ผู้ปกครอง มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา แหล่งเสี่ยง และเสนอแนะแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมอย่างมีส่วนร่วม

แนวทางการติดตามประเมินผล

  • ประชุมสรุปผลการดำเนินงานหลังทำกิจกรรม เพื่อทบทวนและสรุปวิธีการดำเนินงาน กระบวนการ และผลที่ได้รับจากการทำกิจกรรม ทั้งในเชิงบวกและลบ
  • กลุ่มที่ 1 ประเมินผู้เข้าร่วม
  • กลุ่มที่ 2 ประเมินเครือข่าย ทีมงาน ภาคีที่เกี่ยวข้อง
  • เพื่อนำมาพัฒนาเป็นรูปแบบการดำเนินงานกิจกรรมให้สอดคล้องกับพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกลุ่มเป้าหมาย
  • ทำแบบประเมินความรู้ความเข้าใจการอบรม ก่อน-หลัง และแบบประเมินความพึงพอใจการอบรมกับผู้เข้าร่วม