โครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาส บัดดี้ โฮม แคร์ (Buddy home care)
หลักการและเหตุผล
ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยเมื่อสัดส่วนของประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป สูงขึ้นร้อยละ ๑๐ เมื่อปี ๒๕๔๘ จนถึงปี ๒๕๕๖ สัดส่วนของประชากรสูงอายุได้เพิ่มสูงถึงร้อยละ ๒๐ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แสดงให้เห็นว่าในปี ๒๕๖๖ ประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ในประเทศไทยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๑๔.๑ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๒๑ ของประชากรทั้งหมด เท่ากับว่าประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” และในปี ๒๕๗๖ ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป มากถึงหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด[1]การสูงวัยของประชากรย่อมมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ค่าใช้จ่ายทั้งของรัฐและครอบครัวในเรื่องสวัสดิการและสุขภาพอนามัยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาลที่จะต้องจัดสรรให้แก่ผู้สูงวัยในอนาคตประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
พื้นที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว มีประชากรจำนวน ๗๙,๑๓๐ คน[2]มีผู้สูงวัยจำนวน ๙,๔๗๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๒ ตำบลหัวนา มีผู้สูงวัย ๑,๘๖๑ คน โดยแบ่งประเภทของผู้สูงวัยดังต่อไปนี้[3] ๑) ผู้สูงวัยติดสังคม ๑,๖๐๘ คน ๒) ผู้สูงวัยติดบ้าน ๑๑๗ คน ๓) ผู้สูงวัยติดเตียง ๘ คน
จากผลการคัดกรองโรคเรื้อรังในผู้สูงวัยพื้นที่อำเภอเขมราฐ[4] พบว่าผู้สูงวัยจำนวนมากมีปัญหาเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ดังนี้ ๑)โรคความดันโลหิตสูง ๒)โรคเบาหวาน ๓)โรคหัวใจและหลอดเลือดแดง นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางสังคมที่ผู้สูงวัยอยู่อาศัยกันตามลำพังเนื่องจากบุตรหลานต้องเคลื่อนย้ายไปทำงานต่างถิ่น อำเภอเขมราฐเป็นอำเภอชายแดน แต่ยังขาดแพทย์และเครื่องมือในการรักษาเฉพาะทาง ทำให้เมื่อผู้สูงวัยเจ็บป่วยรุนแรงหรือต้องการวินิจฉัยเพิ่มเติม ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวไปรับการรักษาต่อยังโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งอยู่ห่างไกลเป็นระยะทาง ๑๑๐ กิโลเมตร ทำให้มีปัญหาและอุปสรรคในการรักษาอย่างต่อเนื่องดังนี้ ๑)ค่าใช้จ่ายเป็นค่าเดินทางซึ่งบางพื้นที่สถานบริการด้านสุขภาพอยู่ไกลจากหมู่บ้านและไม่มีรถประจำทาง ๒)ไม่มีคนไปส่งเนื่องจากลูกหลานต้องไปทำงาน ๓)ความยุ่งยากซับซ้อนในระบบบริการ ต้องมีการดำเนินการผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอน ๔)การนัดตรวจในแต่ละโรคไม่ตรงกันทำให้ต้องมาโรงพยาบาลหลายครั้งไม่สะดวก ๕)ต้องรอนานโดยเฉพาะการรับบริการที่โรงพยาบาลและจิตบริการของบุคลากรด้านสุขภาพไม่ดี ๖)ปัญหาด้านการสื่อสาร เนื่องจากผู้สูงวัยการได้ยินไม่ชัดเจนและพูดภาษาท้องถิ่นทำให้มีความคลาดเคลื่อนของข้อมูล นอกจากนี้ผู้สูงวัยยังขาดการส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เนื่องจาก ๑)ไม่มีผู้พาไปส่งเข้าร่วมกิจกรรม ๒)ปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ ๓)ไม่มีเงินค่าเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรม ๔)ไม่มีเวลาเนื่องจากต้องทำงานหรือเลี้ยงหลาน ๕)ขาดการประชาสัมพันธ์กิจกรรมในชุมชน ๖)กิจกรรมไม่สอดคล้องหรือตรงกับความชอบ ๗)ไม่มีการรวมกลุ่มของผู้สูงวัย
ถ้าหากปล่อยให้ปัญหาผู้สูงวัยคงอยู่จะทำให้เพิ่มภาระในการดูแล ค่าใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรูปแบบการพัฒนาศักยภาพในการดูแลตัวเองสำหรับผู้สูงวัย ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัย เด็กและเยาวชนที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้ดูแลผู้สูงวัยในอนาคต ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีไม่มีศักยภาพเพียงพอในการดูแลผู้สูงวัยในครอบครัวและชุมชนของตัวเอง อันเป็นผลมาจากปัญหาโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป ครอบครัวเคลื่อนย้ายไปทำงานต่างถิ่น ผู้ปกครองขาดความรู้และความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งสภาพปัญหาเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อเด็กเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพกายสุขภาพจิต ปัญหาด้านค่านิยมบริโภคนิยมนำไปสู่การเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กในวัยต่าง ๆ ในทางไม่เหมาะสมและมีส่วนผลักดันให้เด็กจำนวนหนึ่งถูกปล่อยปละละเลยหรือถูกทอดทิ้งให้ต้องกลายเป็นเด็กในภาวะยากลำบาก
มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน ได้รายงานว่ามีจำนวนเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบากประเภทต่าง ๆ อายุระหว่าง ๐-๑๘ ปี ในพื้นที่ตำบลหัวนา อำเภอเขมราฐ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว จังหวัดอุบลราชธานี (ข้อมูล: กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗) ดังต่อไปนี้ ๑) เด็กเร่ร่อน ๐ คน ๒) เด็กกำพร้า ๕๓ คน ๓) เด็กยากจน ๑๕๗ คน ๔) เด็กพิการ ๑๔ คน ๕) เด็กถูกทารุณกรรม ๒ คน ๖) เด็กไร้สถานะทางกฎหมาย ๓ คน ๗) เด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ๐ คน รวมจำนวนทั้งหมด ๑๙๐ คน เด็กที่มีภาวะยากลำบากเหล่านี้ กำลังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อปัญหายาเสพติด การขายบริการทางเพศ ท้องไม่พร้อม อาชญากรรม ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้รับบริการเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป ไม่ได้รับสิทธิรับทุนแม้เรียนดี เด็กติดเชื้อเอดส์จำนวนไม่น้อยที่เป็นทั้งเด็กกำพร้าและติดเชื้อเอดส์ จึงต้องเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ ขาดการยอมรับจากสังคม จากสถานการณ์ที่ผู้สูงวัยเพิ่มจำนวนขึ้น และกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพ ขาดคนดูแล ถูกละทิ้ง และ เด็ก เยาวชน ไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และยังมีเด็ก เยาวชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการสำรวจข้อมูล ซึ่งนั่นทำให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการดำรงชีวิตของคนในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง
ผู้สูงวัยและเด็กเยาวชนที่มีภาวะยากลำบาก ทั้งสองกลุ่มล้วนเป็น ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองทางสังคมให้มีศักยภาพในการดูแลตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดภาระ ลดขนาดของปัญหา โดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างบูรณาการ โครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาส บัดดี้ โฮม แคร์ (Buddy home care) เป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาศักยภาพเด็กที่มีภาวะยากลำบากในชุมชนให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการดูแล สร้างการยอมรับ และมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้กลุ่มผู้สูงวัยในชุมชนได้เข้าถึงการบริการด้านต่าง ๆ ในสังคม โดยมีเครือข่ายทางสังคม เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน ชุมชน ตัวแทนผู้นำในชุมชน ผู้มีจิตอาสา เด็ก เยาวชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนระดับตำบล โรงพยาบาลชุมชน ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างการยอมรับกลุ่มเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก รวมถึงผู้สูงวัยได้รับการคุ้มครองทางสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมชนบท
สภาเด็กและเยาวชน เทศบาลตำบลหัวนา เป็นกลุ่มองค์กรที่ดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตำบลหัวนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาตามแนวทางของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่ต้องดำเนินการต่อเด็กทุกกลุ่มที่จำต้องได้รับการคุ้มครองพิเศษ รวมทั้งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กำหนดให้ส่งเสริมบทบาทขององค์กรเอกชน องค์กรชุมชน ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน โครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาส บัดดี้ โฮม แคร์ (Buddy home care) จึงเป็นการพัฒนารูปแบบในการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนเด็ก เยาวชนที่มีภาวะยากลำบากให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพในการดูแลผู้สูงวัยในชุมชน ผ่านการดำเนินกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายประชาสังคม และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการมีส่วนร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนดังยุทธศาสตร์ ข้อที่ ๓ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การอยู่ร่วมกันในสังคมโดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อป้องกันแก้ไขในกลุ่มเด็กอย่างเป็นระบบ
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน ที่มีภาวะยากลำบากให้มีทักษะในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นและทักษะการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ อย่างมีส่วนร่วมกับผู้มีจิตอาสาในชุมชน
๒. เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนโดยกลุ่มเด็กเยาวชนที่มีภาวะยากลำบากในชุมชน
๓. เพื่อพัฒนาเครือข่ายในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุและส่งเสริมโอกาสผู้มีภาวะยากลำบากที่เป็นกลุ่มเด็ก เยาวชนในชุมชน
กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินงาน
กลุ่มเป้าหมายตรง ๑.กลุ่มเด็ก เยาวชน ที่มีภาวะยากลำบากในชุมชน ตำบลหัวนา ๓๐ คน
๒.กลุ่มผู้สูงวัย อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ตำบลหัวนา ๑๐๐ คน
๓. ผู้มีจิตอาสา ตำบลหัวนา ๓๐ คน
๔. คณะทำงานผู้สูงวัยในชุมชน จำนวน ๑๐ คน รวมจำนวน ๑๐ คน
รวมจำนวนทั้งสิ้น ๑๗๐ คน
กลุ่มเป้าหมายอ้อม ครอบครัวผู้สูงวัยตำบลหัวนา จำนวน ๑,๘๖๑ คน
พื้นที่ดำเนินการ ๑๕ หมู่บ้าน ตำบลหัวนา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
วิธีการดำเนินงาน
กิจกรรม | รายละเอียดกิจกรรม | กลุ่มเป้าหมาย |
๑.ประชุมคณะทำงานชุมชน ๓ เดือน/ครั้ง (๔ ครั้ง)
วัตถุประสงค์ ๑.เพื่อประชุมวางแผน วิเคราะห์ สถานการณ์ในพื้นที่ ๒.เพื่อสรุปทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา ให้เท่าทันต่อสถานการณ์ ๓.เพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ด้อยโอกาสที่เป็นกลุ่มเด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้มีจิตอาสา ในชุมชน |
๑.ประชุมคณะทำงานชุมชนเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ บทบาทหน้าที่ วางแผน ระดมความคิดเห็น และวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ด้อยโอกาสในชุมชน
๒.แลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาผู้สูงอายุและเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ด้อยโอกาสที่เป็นกลุ่มเด็กเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน ๓. คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายในการเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา ๔.สรุปผลการดำเนินงาน แก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นเครือข่าย ๕.สนับสนุน หนุนเสริม กิจกรรมสำหรับกลุ่มเด็ก เยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน |
๑.คณะทำงานชุมชน ตำบลหัวนา
จำนวน ๑๐ คน
รวมจำนวน ๑๐ คน |
๒.กิจกรรมอบรมการสร้างคุณค่าในตัวเองสำหรับกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา จำนวน ๑ ครั้ง
วัตถุประสงค์ ๑.เพื่อเสริมสร้างคุณค่าในตัวเองสำหรับกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา ในชุมชน ๒.เพื่อสร้างความมั่นใจสำหรับกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสาในชุมชน |
๑. กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่ม เด็ก เยาวชน ผู้มีภาวะยากลำบากในชุมชน จำนวน ๓๐ คน และ ผู้มีจิตอาสาในชุมชน ๓๐ คน ถูกคัดเลือกจากคณะทำงาน เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณค่า และ สร้างความมั่นใจในตัวเอง และจับคู่เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันตลอดโครงการ
๒. กิจกรรมอบรมการสร้างคุณค่าในตัวเองสำหรับกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา จำนวน ๑ ครั้ง |
๑.เด็ก เยาวชน จำนวน ๓๐ คน
ผู้มีจิตอาสา ตำบล ๓๐ คน
รวมจำนวน ๖๐ คน
|
๓. อบรมทักษะการดูแลสุขภาพเบื้องต้นและทักษะการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ สำหรับเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา จำนวน ๑ ครั้ง
วัตถุประสงค์ ๑.เพื่อเพิ่มทักษะการดูแลสุขภาพเบื้องต้นและทักษะการเยี่ยมบ้านในกลุ่มผู้สูงอายุสำหรับเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา ๒.เพื่อให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพเบื้องต้นสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุสำหรับเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา |
๑. กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่ม เด็ก เยาวชน ผู้มีภาวะยากลำบากในชุมชน จำนวน ๓๐ คน และ ผู้มีจิตอาสาในชุมชน ๓๐ คน ถูกคัดเลือกจากคณะทำงานชุมชน และเป็นกลุ่มคนที่ผ่านการทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณค่า และ สร้างความมั่นใจในตัวเอง เข้าร่วมกิจกรรมอบรมทักษะการดูแลสุขภาพเบื้องต้นและทักษะการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ ผู้ถูกคัดเลือกจะถูกจับคู่และทำกิจกรรมร่วมกันตลอดโครงการ
๒. กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรมทักษะการดูแลสุขภาพเบื้องต้นและทักษะการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ สำหรับเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา ๓. กลุ่มเป้าหมายได้รับการฝึกทักษะในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นและการเยี่ยมบ้านสำหรับผู้สูงอายุระหว่างการอบรม |
๑.เด็ก เยาวชน จำนวน ๓๐ คน
ผู้มีจิตอาสา ตำบล ๓๐ คน
รวมจำนวน ๖๐ คน
|
๔. เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ โดยเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา ที่ผ่านการอบรม สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง จำนวน ๒๔ สัปดาห์ ต่อ ตำบล
(๔๘ ครั้ง) วัตถุประสงค์ ๑.เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุในชุมชน ๒.เพื่อให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพเบื้องต้น และ เก็บรวบรวมข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชนโดยแกนนำเด็ก เยาวชน และ ผู้มีจิตอาสา ๓.เพื่อส่งเสริมทักษะการเยี่ยมบ้านสำหรับแกนนำเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา ในชุมชนในการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ และกลุ่มอื่นในชุมชน ๔. เพื่อติดตาม หนุนเสริมกลุ่มเด็ก เยาวชน ในชุมชน ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกับผู้มีจิตอาสาในการทำกิจกรรมเยี่ยมบ้าน |
๑. คณะทำงานชุมชน ร่วมกับ แกนนำกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา คัดเลือกสมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ประสบปัญหา เช่น มีโรคประจำตัว มีภาวะซึมเศร้า อยู่บ้านตามลำพังไม่มีบุตรหลานดูแล มีภาวการณ์เจ็บป่วย มีปัญหาการไม่ยอมรับในชุมชน เป็นต้น
๒.แกนนำกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา จับคู่ทำงานร่วมกัน (Buddy Home Care) เพื่อวางแผนการเยี่ยมบ้าน แบ่งบทบาทหน้าที่ เพื่อเยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ๓.แกนนำเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา เตรียมข้อมูล วางแผน สรุปการทำกิจกรรมเยี่ยมบ้านร่วมกัน ๔. จดบันทึกการเยี่ยมบ้านโดยแกนนำเด็ก เยาวชน ผู้มีจิตอาสา ๕.ประชุมสรุปงานผลการเยี่ยมบ้านร่วมกับ คณะทำงานชุมชน เพื่อส่งต่อข้อมูลและหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป ๖.วางแผนสำหรับการเยี่ยมบ้านครั้งต่อไป
|
๑.เด็ก เยาวชน จำนวน ๓๐ คน
ผู้มีจิตอาสา จำนวน ๓๐ คน
ผู้สูงอายุในชุมชน จำนวน ๑๐๐ คน
รวมจำนวน ๖๐ คน
เยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง จำนวน ๔๘ ครั้งต่อตำบล
|
๒.๙ ระยะเวลาการดำเนินโครงการ ๑ ปี (เดือนมกราคม ๒๕๕๙- เดือนธันวาคม ๒๕๕๙)
หมายเหตุเพิ่มเติม
- เด็กที่มีภาวะยากลำบาก ได้แก่ เด็กพิการ เด็กยากจน เด็กถูกทารุณกรรม เด็กติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เด็กที่อยู่ระหว่างกระบวนการยุติธรรม เด็กเด็กกำพร้า เด็กไร้สถานะ เด็กเร่ร่อน
- ผู้มีจิตอาสา หมายถึง ผู้มีจิตเสียสละ มีความร่วมมือ ร่วมใจ ในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม
- คณะทำงานชุมชน เป็นกลุ่มตัวแทนจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล, โรงพยาบาลชุมชน,โรงเรียน, ผู้นำชุมชน, ผู้มีจิตอาสาในชุมชน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. เด็ก เยาวชน ที่อยู่ในภาวะยากลำบาก จำนวน ๓๐ คน ผู้มีจิตอาสา ๓๐ คน ได้รับการการสร้างคุณค่า และมีความมั่นใจในตัวเอง รวมถึงได้รับการพัฒนาศักยภาพในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นและมีทักษะการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุในชุมชน
๒. ผู้สูงอายุในชุมชน ตำบลละ ๑๐๐ คนได้รับการเยี่ยมบ้าน จากเด็ก เยาวชน ที่อยู่ในภาวะยากลำบาก และ ผู้มีจิตอาสา ในชุมชน
๓. มีรูปแบบในการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุในชุมชน โดยการหนุนเสริมกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบเพื่อสร้างการยอมรับอย่างบูรณาการ
๔. คณะทำงานชุมชนสนับสนุน และหนุนเสริม กิจกรรมของกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้มีภาวะยากลำบาก โดยมีผู้มีจิตอาสา ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในชุมชน
๕. มีเครือข่ายในการทำงานเพื่อส่งเสริมผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เช่น เด็กที่มีภาวะยากลำบากและผู้สูงวัยให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างมีส่วนร่วมในชุมชน
[1]สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.๒๕๕๖
[3]๑. ติดสังคม ดำเนินชีวิตในสังคมได้โดยอิสระ และมักเข้าร่วมกิจกรรมในสังคม
๒. ติดบ้าน เป็นผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้หรือต้องการความช่วยเหลือบางส่วน มีความจำกัดในการดำเนินชีวิตในสังคม
๓. ผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง เป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ ต้องการความช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายและ / หรือการทำกิจวัตรพื้นฐานประจำวันอื่น
[4]ฝ่ายเวชปฏิบัติครอบครัว โรงพยาบาลเขมราฐพ.ศ.๒๕๕๘