โครงการส่งเสริมบทบาทแกนนำกลุ่มชายรักชาย

 

 

 

 

 

 

โครงการส่งเสริมบทบาทแกนนำกลุ่มชายรักชายในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา   เอดส์ พื้นที่ชายแดนไทย-ลาว อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร และอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี 

ผู้เขียน  : ลัดดา ไวยวรรณ์ , ศิริวรรณอาษาศรี , และมนัสนันท์ ศรีมันตะ

บทคัดย่อ

                   การส่งเสริมบทบาทแกนนำ “ชายรักชาย” Male who have Sex with Male- MSM)  และ กะเทย (Male to Female transgender people – MtF)) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว พื้นที่อำเภอนาตาล อำเภอโพธิ์ไทร และอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมบทบาทชายรักชายกับการมีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์ในพื้นที่ โดยหนุนเสริมโอกาสชายรักชายในการเปิดพื้นที่ทางสังคมในชุมชนของตนเอง ภายใต้ความเชื่อว่า “คนมีอำนาจในตน คนมีศักยภาพ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้”โดยมีแกนนำกลุ่ม “ฟ้าสางที่ริมโขง” ซึ่งเป็นกลุ่มชายรักชายหรือกะเทย ที่ผ่านการอบรมความรู้เรื่องเอดส์และเพศศึกษา พัฒนาทักษะการเป็นวิทยากร และการให้คำปรึกษาเพื่อการตรวจเลือดอย่างสมัครใจ  โดยการส่งเสริมกลุ่มแกนนำดังกล่าวในการดำเนินงานภายใต้โครงการทั้งด้านการบริหารจัดการ และการดำเนินกิจกรรม

ผลการดำเนินงาน

                   ชุดประสบการณ์ของความเป็นกะเทยและความ“คนอื่น”ในสังคมได้ถูกนำมาใช้เป็นแรงผลักในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การสร้างแรงบันดาลใจ และการรวมกลุ่มกันในการต่อสู้กับอำนาจอื่นๆ ที่เข้ามาประทะความเป็นกะเทย การแสวงหาพื้นที่และการสร้างการยอมรับถูกนำมาปฏิบัติในกระบวนการกลุ่ม โดยการส่งเสริมบทบาทการดำเนินงานด้านเอดส์ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ประชุมแกนนำอบรมพัฒนาทักษะการเขียนโครงการ กิจกรรมศูนย์เพื่อน รณรงค์เรื่องเอดส์และเพศวิถี และพบกลุ่มให้คำปรึกษาในกลุ่มชายรักชายที่ติดเชื้อเอชไอวี

                   จากการดำเนินกิจกรรม พบว่า“คุณแม่” หรือ “คุณยาย”   ซึ่งเป็นผู้นำโดยธรรมชาติของกลุ่มกะเทยในพื้นที่มีความสำคัญในการส่งเสริมบทบาทแกนนำชายรักชายเพราะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างแรงจูงใจ  การบอก สอน ให้คำแนะนำเรื่องชีวิต การดูแลสุขภาพ สุขภาวะทางเพศและกระตุ้นให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรม

         การเปิดโอกาส และการเปิดพื้นที่ในการแสดงตัวตน ควรเริ่มในระดับบุคคลโดยชายรักชายต้องมีความเข้าใจในตัวตน สร้างคุณค่าให้กับตนเอง การนำตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมงานของชุมชน สังคม และการได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนจะทำให้มีพื้นที่ในการแสดงตัวตนเพิ่มขึ้น 

บทเรียนการทำงาน

                   การปรับเปลี่ยนมุมมองของคนในสังคมที่มีต่อชายรักชาย การส่งเสริมบทบาท และการส่งเสริมโอกาสชายรักชายในการเปิดพื้นที่ในสังคม คนทำงานต้องมีความเข้าใจในอัตลักษณ์ และบริบทของชายรักชายในพื้นที่ ทั้งความหลากหลาย ความลื่นไหลทางเพศ มีข้อมูลที่เพียงพอในการให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพ เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีการบูรณาการประเด็นงานเอดส์ เพศวิถี การทำงานกลุ่ม การเสริมพลังภายใน และการขับเคลื่อนงานร่วมกับเครือข่ายการทำงานด้านเอดส์ การสร้างพื้นที่ของ ควรเริ่มจากระดับบุคคล ครอบครัว และกลุ่มเพื่อน เพราะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในการหล่อหลอมตัวตน มีความพร้อมต่อการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยและมั่นใจในการแสดงตนเอง  โดยกระบวนการกลุ่มทำให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อน และการทำงานมีความชัดเจนมากขึ้น

 

Key word:  อัตลักษณ์ของกะเทย  ความเป็นอื่น ความเป็นผู้นำการเสริมพลังและ เอชไอวี เอดส์