
O : Opportunistic | แทรกซ้อนฉวยโอกาส |
I : Infection | การติดเชื้อ |

โรคฉวยโอกาส จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายเกิดความอ่อนแอ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันร่างกาย เมื่อใดที่ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง โอกาสที่โรคฉวยโอกาสต่าง ๆ จะแทรกซ้อน โดยส่วนใหญ่แล้วโรคฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อสามารถรักษาให้หายได้ รวมทั้งบางโรคที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้
โรคฉวยโอกาสที่เกิดในช่องปาก
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรใช้กระจกตรวจดูภายในช่องปากอย่างสม่ำเสมอว่ามีฝ้าลักษณะเป็นปื้นสีขาว ที่เพดานปาก หรือกระพุ้งแก้ม เป็นริ้วเส้นสีขาวข้างลิ้นทั้งสองข้าง หรือไม่ ในบางรายเมื่อกินอาหารรสจัด จะรู้สึกเจ็บแสบ การรับรสเปลี่ยนไป
โรค | อาการ | การดูแลตามอาการ |
เชื้อราในปาก | มีลักษณะเป็นฝ้าขาว เป็นขุย มักขึ้นตามกระพุ้งแก้ม เพดานปาก ไม่เจ็บ แต่ทำให้กินอาหารไม่อร่อย | บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังอาหาร โดยเฉพาะเมื่อกินอาหารรสหวาน สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ฝ้าขาว อาการเจ็บภายในปาก การรับรสอาหาร และ การกลืน ไม่ควรขูด เพราะจะทำให้เกิดแผล ถ้าไม่รักษาจะทำให้เชื้อราลงหลอดอาหารได้ ไม่ควรใช้ยาสีฟันที่แรงเกินไป หรือไม่ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราบ้วนปากเพราะจะทำให้เสียสมดุลในปาก ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตามเชื้อสาเหตุ |
เชื้อราในหลอดอาหาร | เกิดจากเชื้อราในปากลุกลามลงหลอดอาหาร ทำให้มีอาการกลืนติด ท้องเสีย | |
ริ้วขาวข้างลิ้น (เชื้อไวรัส) | ไม่มีผลต่อการกิน ขูดไม่ออก มักเป็นมากเวลาที่มีความเครียด ไม่เจ็บ และหายเองได้เมื่อพักผ่อนเพียงพอ | |
เริม (เชื้อไวรัส) | เป็นตุ่มน้ำใส ปวดแสบปวดร้อน หายเองได้ |
อาการท้องเสียและท้องเสียเรื้อรัง
โรค | อาการ | การดูแลตามอาการ |
ท้องเสียธรรมดา | ถ่ายเหลววันละ 2-3 ครั้ง สามารถหายได้เองภายใน 7 วัน มักเกิดจากน้ำดื่มและอาหาร | เนื่องจากอาการท้องเสียทำให้ร่างกายเสียน้ำ การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 1 แก้วต่อการถ่ายอุจจาระหนึ่งครั้ง หรือ ดื่มน้ำเกลือโออาร์เอส ไม่ควรงดอาหาร กินเท่าที่กินได้ แต่เน้นกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ไม่มีน้ำมัน สังเกตจำนวนครั้งที่ถ่ายในแต่ละวัน สังเกตลักษณะของอุจจาระ ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย ถ้ามีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ผิวแห้ง ตาลึก หรืออาเจียนมาก กินไม่ได้ ถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้สูง ควรรีบไปพบแพทย์ |
ท้องเสียเรื้อรัง | ถ่ายเหลวนานเกิน 2 สัปดาห์ติดต่อกัน มักเกิดจาติดเชื้อในลำไส้ เช่น แบคทีเรีย วัณโรค เชื้อพยาธิ เป็นต้น |
โรคฉวยโอกาสทางผิวหนัง เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดขึ้นกับระบบผิวหนังของร่างกาย และเป็นตัวชี้บอกว่าภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
โรค | อาการ | การดูแลตามอาการ |
งูสวัด | งูสวัด อาการมีไข้ ปวดตามตัว ปวดแสบปวดร้อนบริเวณตุ่มขึ้น เป็นตุ่มน้ำใส ขึ้นตามแนวเส้นประสาท มักจะขึ้นเพียงซีกเดียวของร่างกาย พบบ่อยบริเวณใบหน้า ข้างลำตัว แขนและขา ในกรณีที่เป็นที่ใบหน้า เชื้ออาจทำให้กระจกตาเสีย ตาบอดได้ ถ้าแผลงูสวัด เป็นแผลกว้างมากกว่า 2 นิ้ว หรือเป็นมากกว่า 1 ครั้งในรอบ 1 ปี แสดงว่ามีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง | ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ทาแผลด้วยเบตาดีนอย่างน้อยวันละครั้ง กินยาเพื่อบรรเทาอาการปวด ในกรณีที่เป็นงูสวัดบริเวณใบหน้าควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อเข้าทำลายกระจกตา ทำให้ตาบอดได้ |
ตุ่มพีพีอี | เป็นตุ่มนูนเหมือนตุ่มถูกยุงกัด มีอาการคันมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการเกา หากเกาจนผิวหนังถลอก ทำให้แผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้กลายเป็นแผลมีหนองหรือนูนดำและเป็นแผลเป็น | ทำความสะอาดร่างกาย ทาโลชั่น และทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่ม ของใช้ภายในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ ตุ่มใหม่ ทา ทีเอครีม เฉพาะบริเวณที่เป็นตุ่ม ตุ่มเก่าทาเบตาดีน เช้า-เย็น กินยาลดคัน เช่น ซีพีเอ็ม อะทาแร็กซ์ หลีกเลี่ยงการเกา ตัดเล็บให้สั้น |
เริมที่อวัยวะเพศ | เกิดจากเชื้อไวรัส อาการเริ่มแรกเป็นตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน เมื่อตุ่มน้ำแตกจะเป็นแผลตื้น ๆ เจ็บมาก ถ้าเป็นไม่มากแผลจะหายเอง ในรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำเริมสามารถกลับมาเป็นได้อีกโดยเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง | ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด งดมีเพศสัมพันธ์ พาคู่นอนไปรักษาพร้อมกัน ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา |
สะเก็ดเงิน หรือเรื้อนกวาง | เป็นผื่นนูน มักเป็นบริเวณหนังศีรษะ ข้อศอก หัวเข่าทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นหลุดลอกออก ทำให้ผิวบาง แห้ง คัน จะเป็น ๆ หาย ๆ ในรายที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องมักจะเป็นรุนแรง คือเป็นทั้งตัว อาจมีอาการปวดตามข้อกระดูกร่วมด้วย | ดูแลให้ผิวหนังชุ่มชื้น เช่น ทาโลชั่น น้ำมันมะกอก ถ้าเป็นแผลให้ทำแผลด้วยน้ำสะอาด เป็นมากพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อกินยาควบคุมอาการ รักษาไม่หาย แต่ควบคุมอาการได้ เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ไม่ใช่โรคติดต่อ |
ผื่นแพ้ยา | เป็นผื่นแดง เป็นปื้น อาจมีไข้หรือคัน | ดื่มน้ำมาก ๆ กินยาแก้แพ้ เป็นมากควรพบแพทย์ |
โรคฉวยโอกาสระบบทางเดินหายใจ โรคฉวยโอกาสที่พบบ่อยในระบบทางเดินหายใจ คือ ปอดอักเสบพีซีพี ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ไซนัสอักเสบ และวัณโรค
โรค | อาการ | การดูแลตามอาการ |
ปอดอักเสบพีซีพี | มีไข้เพราะมีการติดเชื้อพีซีพี ไม่ไอ หรือ ไอน้อย ไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ เหนื่อยหอบมาก หายใจไม่อิ่ม | เช็ดตัวลดไข้ รีบไปพบแพทย์ เพื่อดูแลรักษา |
ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย | มีไข้ เพราะติดเชื้อ ไอมาก เพราะมีเสมหะ เสมหะมีสีเหลือง เขียว มีอาการเหนื่อย หอบจากการไอ อาจมีเจ็บหน้าอก เนื่องจากไอ | เช็ดตัวลดไข้ กินน้ำอุ่นเพื่อละลายเสมหะ รีบไปพบแพทย์เพื่อดูแลรักษา |
ไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย | ปวดบริเวณหน้าผาก(หัวคิ้ว) กระบอกตา ขมับ เพราะมีการคั่งของน้ำมูกบริเวณไซนัส มีน้ำมูกใส หรือเป็นหนอง เพราะการติดเชื้อ แน่น คัดจมูก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น พูดเสียงขึ้นจมูก อาจมีไข้ กรณีเรื้อรัง | หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ดูแลรักษาความสะอาดบ้านเรือน สิ่งแวดล้อมไม่ให้มีฝุ่น ควัน กินยาลดบวม |
วัณโรค | มีไข้เรื้อรัง เป็นไข้ต่ำ ๆ หลายสัปดาห์ ถ้าซีดี 4 ต่ำมักจะเป็นไข้สูง น้ำหนักลด ประมาณ 5-10 กก.ในผู้ใหญ่ เหงื่อออกตอนกลางคืน ไอเรื้อรัง เสมหะสีขาว | ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไอจาม ปิดปาก จมูก เพื่อป้องกันเชื้อกระจายสู่คนอื่น ในระยะแพร่เชื้อควรแยกภาชนะ เครื่องใช้ ของใช้ส่วนตัวออกจากคนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อวัณโรคสู่คนอื่น รับประทานอาหารปรุงสุก ใช้ช้อนกลาง จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทำความสะอาดบริเวณบ้าน นำเครื่องนุ่งห่มมาผึ่งแดดสม่ำเสมอ |
โรคฉวยโอกาสระบบประสาท คือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา ฝีในสมอง คนส่วนใหญ่มีเชื้ออยู่แล้วถ้าภูมิคุ้มกันร่างกายสูงจะสามารถควบคุมโรคไว้ได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำอาการของโรคจะปะทุ ทำให้มีอาการแสดง และเจ็บป่วย
โรค | อาการ | การดูแลตามอาการ |
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา คริปโต | ไข้สูง ปวดศีรษะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กินยาแก้ปวดไม่หาย เนื่องจากแรงดันในสมองสูง ทำให้อาการปวดรุนแรง อาเจียนพุ่ง คอแข็ง การมองเห็นเปลี่ยน สับสน อาจซึมลงและหมดสติ | ลดไข้ ดูแลตามอาการ รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยเฉพาะและการรักษา |
ฝีในสมอง | ไข้สูง ปวดศีรษะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กินยาแก้ปวดไม่หาย อาเจียนพุ่ง อัมพาตครึ่งซีก มุมปากตก ตาเข | ลดไข้ ดูแลตามอาการ รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเฉพาะและการรักษา |