เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา นางสาวลัดดา ไวยวรรณ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน ( มสป.) ได้นำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง
“เสี่ยวสุขภาพ” การพัฒนาเครือข่ายการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ (SRH) ของแรงงานหญิงลาว ในพื้นที่ชายแดนอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ชื่อภาษาอังกฤษ “Community Health Navigator” Developing Strategic Mechanism at District Level in Providing Lao Migrant Female Sexuality and Reproductive Health (SRH) care and services in the border of Thai-Lao Khemmarat district, Ubon Ratchathani province, Thailand . Presented in The 2 nd International Conference 2018 on Public Health in Asia-Pacific 16-17 August 2018. ซึ่งขอขอบพระคุณ ศ.ดร. พิมพวัลย์ บุญมงคล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเพศภาวะ เพศวิถีและสุขภาพ คุณพิมณทิพา มาลาหอม หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งให้การสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ ให้โอกาสในการพัฒนางานด้านวิชาการ จนกระทั้งได้มีโอกาสในการนำเสนอในครั้งนี้
บทคัดย่อ
“เสี่ยวสุขภาพ” การพัฒนาเครือข่ายการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ (SRH) ของแรงงานหญิงลาว
ในพื้นที่ชายแดนอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
บริบททั่วไป
มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (มสป.) เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านสุขภาพและสังคมในพื้นที่ชายแดนอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว ระยะทางยาวกว่า 40 กิโลเมตร ทำให้ลักษณะประชากรในพื้นที่มีคนลาวอาศัยอยู่ทั้งแบบอยู่ถาวรและไป-กลับ จากข้อมูลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน จากสำนักทะเบียนอำเภอเขมราฐ (กรกฎาคม 2559) พบว่ามีผู้ไม่มีสถานในทะเบียนราษฎร์อาศัยอยู่ในพื้นที่ทั้งหมด 520 คน แยกเป็นเพศหญิง 334 คน และเพศชาย 186 คน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตำบลนาแวง ตำบลเขมราฐ และตำบลหัวนา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี มูลนิธิฯ จึงได้ร่วมกับศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุขสวัสดิการและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหา วิทยาลัยมหิดล และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนิน โครงการ “Developing machinery of integrated implementation at a district level for taking care and promoting Sexual and Reproductive Health (SRH) of Lao female labors” ระยะเวลาดำเนินการ มกราคม 2560- มีนาคม 2561
สถานการณ์ปัญหา
ด้วยคนกลุ่มนี้จึงถูกผลักให้เป็น “คนชายขอบ” การอยู่ในพื้นที่ชายแดนอันห่างไกลผลักให้พวกเขามีข้อจำกัดทั้งในการเข้าถึงบริการตามสิทธิขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่รู้สิทธิและมีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดยในปี 2560 ได้สำรวจข้อมูลแรงงานหญิงลาว จำนวน 100 คน ใน 3 ตำบล (เขมราฐ นาแวง หัวนา) พบว่าแรงงานหญิงลาว ส่วนใหญ่มีช่วงอายุระหว่าง 31-40 ปี และอยู่ประเทศไทยมานาน ทำงานภาคการเกษตรและรับจ้าง พวกเขามีความกังวลใจในการรับบริการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย รอนาน เสียเวลา การเดินทางยากลำบาก ไม่รู้สิทธิของตนเอง และระบบของโรงพยาบาลมีขั้นหลายขั้นตอนและเป็นขั้นตอนที่พวกเขายังไม่เข้าใจ อาการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ที่พบเช่น ตกขาว ปวดท้องน้อย ปัสสาวะแสบคัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ แรงงานส่วนหนึ่งมีประสบการณ์ถูกด่าท้อ ทั้งจากสามี คนรอบข้าง คนในครอบครัว ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เขารู้สึกด้อยค่า สูญเสียอำนาจการต่อรอง สูญเสียอำนาจในตนเอง ที่สำคัญพวกเขาบอกว่าต้องการการรับบริการ ขอคำปรึกษาจากคนในครอบครัว อสม. เจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน
วัตถุประสงค์และการดำเนินการ
การดำเนินโครงการวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลไกการทำงานในระดับอำเภอในการผลักดันเชิงนโยบายและการดำเนินงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศของแรงงานหญิงลาวผ่านความร่วมมือทุกภาคส่วน โดย “เสี่ยวสุขภาพ” หรือ Health Navigator คือ อาสาสมัครทั้งคนไทยและคนลาวที่อยู่ในพื้นที่อำเภอเขมราฐและสมัครเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพและขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่โดยมีระบบโค้ชสอนงานซึ่งโค้ชเป็นเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เทศบาล ภาคประชาสังคมที่อยู่ในพื้นที่ โดยเสี่ยวสุขภาพเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนงานในชุมชน เช่น สำรวจข้อมูลแรงงานหญิงลาว ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน จัดประชุมแก้ไขปัญหารายกรณี จัดกิจกรรมพบกลุ่มสุขภาพ จัดตั้งศูนย์ข้อมูลในชุมชน 3 ตำบล และส่งเสริมให้แรงงานตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงพยาบาลชุมชน
ผลการดำเนินกิจกรรม
เกิดเครือข่ายในการดำเนินงานในระดับชุมชนโดยมีเสี่ยวสุขภาพ หรือ Health Navigator เป็นผู้เชื่อต่อแรงงานหญิงลาวในชุมชนสู่การให้บริการสุขภาพ เสี่ยวสุขภาพเป็นบุคคลสำคัญในการเข้าถึงแรงงานหญิงลาว ด้วยมีความเข้าใจในเชิงบริบท เข้าใจสังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ มีทักษะการทำงานที่มีความละเอียดอ่อนในเชิงเพศสภาวะของแรงงานข้ามชาติหญิงลาวได้อย่างดี โดยแรงงานหญิงลาวรู้สึกไว้ใจที่จะเข้าหาเสี่ยวสุขภาพ ซึ่งเสี่ยวสุขภาพทำหน้าที่เป็นเพื่อน ให้คำปรึกษา แนะนำให้แรงงานได้รู้ถึงการเข้าถึงระบบการรักษาของโรงพยาบาล ช่วยอำนวยความสะดวก เช่น ช่วยเหลือด้านเอกสาร หรือนำพาผู้ป่วย/ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเข้าสู่กระบวนการรักษา ช่วยลดช่องว่างระหว่างแรงงานและเจ้าหน้าที่รัฐเพราะสามารถเป็นตัวเชื่อม ลดความเกรงกลัวระหว่างเจ้าหน้าที่และแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้เสี่ยวสุขภาพยังสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพผ่านกิจกรรมต่างๆ ให้กับแรงงานเพื่อให้แรงงานหญิงลาวสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างมีสุขภาวะและยั่งยืน
สรุปผลและอภิปราย
การดำเนินการภายใต้โครงการเป็นขับเคลื่อนทั้งในระดับปักเจก ระดับความสัมพันธ์ โครงสร้างการทำงานและนโยบายท้องถิ่น ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาได้การยกระดับการทำงานทั้งระดับชุมชน ตำบล อำเภอ ให้มีความชัดเจนผ่านความร่วมมือในการสร้างกลไกและระบบการทำงานร่วมกัน โดยมี “เสี่ยวสุขภาพ” เป็นตัวกลางเชื่อมโยงประเด็นซึ่งทำให้เกิดการทำงานในหลากหลายมิติเพิ่มขึ้น เช่น มิติสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ มิติด้านความรุนแรงและการช่วยเหลือ มิติสิทธิแรงงาน และมิติการสร้างอำนาจการต่อรองให้กับแรงงานให้สามารถดูแลและปกป้องตนเองได้ อย่างไรก็ตามการทำงานยังต้องการการสนับสนุนเชิงนโยบายในระดับจังหวัด ประเทศ เพื่อให้เอื้อให้เกิดการทำงานเชิงระบบซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถให้บริการแก่แรงงานได้อย่างทั่วถึง และแรงงานทั้งที่เข้าประเทศทั้งถูกกฎหมายและยังไม่ถูกกฎหมายที่อยู่ในพื้นที่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมและสะดวกขึ้น