AIDS คุณรู้หรือยัง?

องค์การ ยูเอ็นเอดส์ และองค์การอนามัยโลก ได้เปิดเผยว่าขณะนี้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก โดยพบว่าประเทศที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าวิตกคือ อูกานดา ยุโรปตะวันตก สหรัฐ และประเทศไทย ซึ่งครั้งหนึ่งองค์การสหประชาชาติเคยกล่าวชมเชยว่าเป็นประเทศที่ประสบความ สำเร็จในการต่อต้านการติดเชื้อเอชไอวี

สาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวี ส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาเสพติดและการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย นอกจากนี้คุณเชื่อหรือไม่ว่า ยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก 1 คน ทุก 8 วินาที หรือเทียบเท่า 11,000 คนในแต่ละวัน

(ที่มา http://badikame.thaiza.com/blog_comment.php?blog_id=101240, สืบค้นวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 )

เอดส์อยู่ใกล้ตัวคุณ คุณ…รู้เรื่องเอดส์แล้วหรือยัง?

ทำความรู้จัก กับ HIV/ AIDS และคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

โรคเอดส์ หมายถึง โรคติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง จนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เหมือนกับคนปกติ

เอชไอวี หมายถึง เชื้อไวรัส HIV ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องในผู้ติดเชื้อ

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หมายถึง ผู้ที่ได้รับการตรวจเลือดและได้รับวินิจฉัยว่า ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจ มีอาการ หรือ ไม่มีอาการ ป่วยด้วยโรคเอดส์

ผู้ป่วยเอดส์ หมายถึง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ป่วยด้วย โรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือ

โรคแทรกซ้อน

โรคแทรกซ้อน/โรคติดเชื้อฉวยโอกาส หมอมักจะพูดสั้นๆ ว่า “โอไอ” ( OI = Opportunistic Infection) จริงๆแล้วมันก็คือโรคทั่วๆไปที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันดี เช่น ท้องเสีย งูสวัด เริม วัณโรค เชื้อรา โรคผิวหนังต่างๆ เป็นต้น บางทีเขาก็เรียกว่าโรคแทรกซ้อน แต่ก็มีความหมายเหมือนกัน ที่เรียกว่าโรคฉวยโอกาสก็เพราะว่า โรคพวกนี้มันชอบเล่นงานตอนทีเผลอนั่นเอง มันมักจะรอจังหวะและโอกาสแสดงอาการของโรคกับคนที่ร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ ที่มีซีดีสี่ (CD4) น้อยหรือต่ำมากเกินไป ก็จะมีโอกาสเกิดอาการของโรคฉวยโอกาสได้มากกว่าคนทั่วๆไป จากสถิติ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะกลายเป็น ผู้ป่วยเอดส์ จะต้องใช้เวลาประมาณ 7 – 10 ปี สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีชาวไทย

ซีดีสี่ (CD4) คืออะไร

CD4 เป็นเซลเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานของร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อโรคต่างๆ สารเคมี สารพิษ ฝุ่นละอองที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งยังมีบทบาทในการสร้างสารภูมิคุ้มกันให้ร่างกายใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับเชื้อโรคได้ด้วย ซีดีสี่ (CD4) ในคนปกติทั่วไปในเลือด 1 ซีซีจะมีประมาณ 500-1,000 เม็ด ถ้าหากผลการตรวจซีดี 4 มีค่าน้อยกว่า 200 ก็ถือว่าภูมิคุ้มกันเริ่มบกพร่องแล้ว

คนทั่วไปมักจะไม่เห็นความสำคัญของการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ HIV หลายคนมีเชื้อ HIV ในร่างกายโดยไม่มีอาการใดๆ และมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน จึงเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อ HIV ไปสู่คนอื่นๆ และหลายคนติดเชื้อ HIV เพราะความรัก ความไว้ใจ จนไม่มีการป้องกันตนเองด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์

ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าติดเชื้อหรือไม่

วิธีเดียวคือจะต้องตรวจเลือดหาเชื้อเอดส์ คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อหลังไปสัมผัสเชื้อมาต้องรอ 2-3 เดือน จึงจะตรวจเอดส์ได้ผลที่น่าเชื่อถือ หรือถ้าตรวจครั้งแรกไม่เจอต้องรอตรวจซ้ำใหม่ในอีก 3-6 เดือนจึงจะแน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่ การตรวจเลือดสามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศหรือคลีนิคนิรนาม สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นสถานที่ตรวจที่มีบริการให้คำปรึกษาแนะนำก่อนและหลังการตรวจ และมีการรักษาความลับของผู้ที่ถูกตรวจไม่ว่าจะตรวจเจอหรือตรวจไม่เจอ

หลังมีความเสี่ยงแล้ว 3 เดือน ไปตรวจหาเชื้อ HIV…..รู้ผล ชัวร์

รู้ผลแล้ว…มีเชื้อหรือไม่มีเชื้อHIV

ก็อย่าลืมป้องกันตนเองทุกครั้งนะค่ะ…. เพื่อคนที่คุณรักและรักคุณ

แนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ที่สำคัญในปัจจุบัน

มีอยู่สองแนวทาง ที่ต้องให้การดูแลควบคู่กันไปคือ

  1. การป้องกันและรักษาโรคฉวยโอกาส ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส (ที่สำคัญคือ หลายโรคป้องกันได้ และทุกโรครักษาได้)
  2. การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี เพื่อลดปริมาณไวรัสในเลือดให้น้อยที่สุดและควบคุมปริมาณไวรัสให้อยู่ในระดับต่ำนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ลดโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคฉวยโอกาส

เมื่อไหร่ควรจะรับประทานยาต้านไวรัส

  1. ถ้าผลตรวจซีดีสี่ (CD4) มีค่าต่ำกว่า 250-300 ควรเริ่มยาต้านไวรัส
  2. เมื่อมีอาการที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับโรคเอดส์ เช่น มีไข้ น้ำหนักลด เชื้อราในปาก เป็นงูสวัด หรือท้องเสียเรื้อรัง แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังถูกทำลาย
  3. ถ้าผลตรวจซีดีสี่ (CD4) ลดต่ำอย่างรวดเร็ว และปริมาณไวรัสเอดส์ในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  4. ความตั้งใจของผู้ติดเชื้อHIV ที่จะดูแลรักษาตนเอง เพราะการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์จะต้องมีความต่อเนื่อง มิฉะนั้นอาจจะทำให้ดื้อยาและยากต่อการรักษาในภายหลัง ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก

การเริ่มยาต้านไวรัสเอดส์ไม่มีความเร่งด่วนควรเริ่มเมื่อพร้อมเท่านั้น

สิทธิการรักษา

  • ขณะนี้ท่านสามารถนำบัตรทอง 30 บาท หรือบัตรประจำตัวประชาชน มารับบริการตรวจเลือดที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง
  • ในกรณีผู้ป่วยที่ยังไม่เคยได้รับยามาก่อน แนะนำให้ผู้ป่วยมารับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ พบกลุ่มเพื่อนสมาชิก แลกเปลี่ยนการดูแล การป้องกันตนเองไม่ให้รับ-แพร่ เชื้อ HIV เมื่อถึงคงเวลาที่สมควรจะต้องไปรับยาต้านไวรัสเอดส์ แพทย์จะพิจารณาสั่งจ่ายยาให้
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยเคยได้รับยาต้านไวรัสมาก่อน แนะนำให้ผู้ป่วยที่เคยกินยาแล้วบางส่วนสามารถเข้าโครงการเพื่อรับยาได้ เช่น ผู้ป่วยที่กำลังกินยาจีพีโอเวียร์อยู่ ท่านควรจะไปติดต่อสอบถามที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน (โรงพยาบาลที่เข้าโครงการ)
  • สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอื่นที่ต้องการการรักษาที่ซับซ้อน เช่น เกิดอาการข้างเคียงอันเนื่องมาจากเชื้อดื้อยาแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการวางแผนการให้บริการต่อไป ทั้งนี้การดูแล รักษาแพทย์ผู้ดูแลจะพิจารณารักษาเป็นกรณีไป

สถานบริการ

ศูนย์กามโรคและโรคเอดส์
งานควบคุมโรคเอดส์และกามโรคจังหวัด
โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง