บุญถม ชะนะกาล / เจ้าหน้าที่โครงการ
ความไม่เข้าใจและความไม่เข้ากันระหว่างผู้ปกครองและบุตรหลาน สาเหตุสำคัญเกิดจากการขาดทักษะในการเลี้ยงดู ความไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ความต่างเหล่านี้ทำให้เกิด “ช่องว่าง” ที่ส่งผลต่อสัมพันธภาพ ครอบครัวขาดแนวทางในการสื่อสารเชิงบวก ไม่มีวิธีการบอกสอนลูกหลาน ทั้งที่หวังดีแต่แสดงออกด้วยการดุด่า ตำหนิ บ่น มากกว่าการรับฟังและทำความเข้าใจ ผู้ปกครองหลายคนใช้วิธีหยิบยื่นโทรศัพท์ให้บุตรหลานเพื่อเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงดูและเป็นเพื่อน เพื่อให้ตนเองได้มีเวลาพักผ่อน และทำงาน แต่ผลที่สะท้อนกลับกลายเป็นบุตรหลานใช้เวลาว่างกับหน้าจอจนจนเกินความจำเป็น เด็กหลายคนติดหน้าจอ พูดไม่ได้ตามวัย ภาวะสมาธิสั้น หยุดเรียนบ่อย เรียนไม่ทันเพื่อน พักผ่อนไม่เพียงพอ และที่สำคัญเด็กไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย ตกอยู่ในความเปราะบางและภาวะยากลำบาก ต้องเผชิญกับปัญหาที่ทับซ้อน นำสู่ปัญหาพฤติกรรมเช่น มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ใช้ยาเสพติด ใช้ความรุนแรง ลักขโมย และอาจก่อปัญหาอาชญากรรม
การเรียนรู้สู่การเปลี่ยน
กุญแจสำคัญที่จะมาเป็นผู้ช่วยหนุนเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเยาวชนคือ “ผู้ปกครอง” เพราะถือว่าผู้ปกครองคือผู้ที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อการดูแลลูกหลาน เพราะหากผู้ปกครองขาดความความรู้ ความเข้าใจในหลักการเลี้ยงดูลูกหลานที่ถูกต้องเหมาะสม ก็จะส่งผลต่อวิธีการอบรมสั่งสอน ตอกย้ำให้เด็กและเยาวชนอยู่ในสถานะที่มีความเปราะบางเพิ่มมากขึ้น
“วงโสเหล่ผู้ปกครอง” หรือการสนทนากลุ่มย่อย เป็นอีกหนึ่งกลวิธีในการทำงานที่ถูกนำมาใช้สร้างพื้นที่ บรรยากาศ ในกลุ่มผู้ปกครองให้ได้มาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่น ได้คลายทุกข์ แบ่งปันวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลานและนำไปกลับไปใช้กับคนในครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองได้เข้าร่วมกิจกรรม “วงโสเหร่” ได้นำเอาเทคนิคการสื่อสาร อาทิ ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ การควบคุมอารมณ์ของตัวเอง การนั่งลงคุยกับลูก เขาเล่าว่า
“ วันนั้นลูกถูกจับการใช้สารเสพติด โดยวิถีปกติเขาจะดุด่า ทำโทษ แต่วั้นนั้นหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมวงโสเหร่ เขาได้คิดและทดลองกระบวนควบคุมอารมณ์ ฟังอย่างตั้งใจ และการถามเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ โดยถามลูกว่า เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแล้วลูกรู้สึกอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป เขาเรียนรู้ว่าการสร้างบรรยากาศในการสื่อสารที่เป็นมิตร ทำให้ลูกเปลี่ยนไป ลูกบอกว่าจะกลับไปโรงเรียน ทำให้ตัวเขารู้สึกดีใจมาก ไม่คิดว่าการนำหลักการฟังลูกอย่างตั้งใจไปใช้ “ครั้งแรก” จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งกับตัวเองและลูกได้ขนาดนี้ ทำให้เขาได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า “ผู้ปกครอง”เปลี่ยน “เด็ก” เปลี่ยน”
การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชนที่อยู่ในความยากลำบาก มีความเปราะบาง ในโครงการเสริมสร้างสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัวเปราะบางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนอกเหนือ โดยการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน ( มสป.) ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาวะ ( สสส.) ได้ถูกดำเนินงานในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และไทย-ลาว มาตั้งแต่ตุลาคม 2561-เมษายน 2563 มีเป้าหมายเพื่อเด็ก เยาวชนในครอบครัวเปราะบางในตำบลชายแดนนำร่องได้รับการดูแล และการสนับสนุนจากชุมชนให้มีต้นทุนชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการทำงานกับเด็กเยาวชนที่ผ่านมากพบว่าการเสริมสร้างศักยภาพผู้ปกครองในการดูแลลูกหลาน ถือว่าเป็นอีกทางออกที่สำคัญต่อการทำงานจัดการแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชน เพราะหากผู้ปกครองมีการปรับเปลี่ยนวิธีการคิด วิธีการดูแลที่ถูกต้อง ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กเยาวชนในทางที่ดี ผู้ปกครอง”เปลี่ยน” เด็ก “เปลี่ยน” จากหนึ่งหน่วยสถานบันครอบครัวรวมกันสู่สถาบันชุมชน ทุกครอบครัวคือ พลังของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และ “เด็กคือลูกของชุมชน”

ผู้ปกครองร่วมกันวิเคราะห์สถานบุตรหลานในชุมชน

วงโสเหล่เด็กและเยาวชน เพราะค้นหาความต้องการในการพัฒนาตัวเอง

วงโสเหล่ผู้ปกครองเรื่องการสื่อสารในครอบครัว

“ผู้ปกครอง”เปลี่ยน “เด็ก” เปลี่ยน ร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน

กิจกรรม ตักบาตรนมเพื่อเด็กและครอบครัวยากไร้โดยเด็กและผู้ปกครองในชุมชน

พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและครอบครัว ร่วมกันเก็บขยะ และทำที่ทิ้งขยะในสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน

กิจกรรมสร้างสรรค์ “แว่นขายไข่”
นำไก่ที่ตนเองเลี้ยงไปส่งตามร้านค้าในชุมชน

ผู้ปกครองและเด็กช่วยกันเก็บไข่เตรียมขาย