ภาพแกนนำกลุ่มฟ้าสางที่ริมโขง (กลุ่มชายรักชาย) ที่เข้าร่วมแสดงความยินดีในงานแต่งงานของแกนนำกลุ่มฟ้าสางที่ริมโขง “คุณแม่หร่อง” เมื่อมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา การแต่งงานในครั้งนี้ได้สร้างความประทับใจให้กับสมาชิกกลุ่มฟ้าสางที่ริมโขงเป็นอย่างยิ่ง เพราะ
- เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นพิธีแต่งงานระหว่างชายรักชายในระดับพื้นที่ บางคนแสดงความแปลกใจโดยเฉพาะกลุ่มคนที่สูงวัยที่กล่าวว่า “พึ่งเคยเจอชายแต่งงานกับชาย ” เด็กๆ หลายคนมาแอบมุ่งดูในช่วงระหว่างที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวกำลังเข้าสู่พิธีการ ” เข้าพาขวัญ”
- สร้างความฝันให้กับกลุ่มเพื่อนสาว (กลุ่มกะเทย) การแต่งงานที่เกิดขึ้นทำให้เพื่อนสาวหลายคนมีความหวังเกี่ยวกับความรัก ชีวิตคู่ ซึ่งหลายคนกล่าวว่า “อยากมีเหมือนคุณแม่” และ “ทำอย่างไรจะได้เหมือนคุณแม่”
จากการศึกษาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีของกะเทย ของมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน พบว่า กลุ่มเพื่อนสาวมีการให้ความสำคัญกับความรักเป็นอย่างมาก และจะทุ่มเททุกอย่างเพื่อคนที่ตนเองรัก ทั้งเงินทอง การปฏิบัติการทางเพศเพื่อให้คนที่รักมีความสุข และการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งในบรรดากลุ่มศึกษาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “รักแท้ไม่มีในกะเทย” (เป็นไปได้ยากที่จะมีผู้ชายมารักเพื่อนสาว) ด้วยเหตุผลที่แม้กระทั้งตัวเองยังมีมุมมองในเรื่องเพศ เป็นสองเพศ “ชายและหญิง” การมีมุมมองเรื่องความรักที่เป็นไปไม่ได้ มาจากฐานความคิดเรื่องเพศของกลุ่มศึกษาเองก็มีการประกอบสร้างบนฐานคิดของ ชายคู่หญิง ครอบครัวประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ดังนั้นเพื่อนสาวซึ่งจึงได้ผลิตซ้ำในแนวความคิดดังกล่าวจึงไม่เชื่อว่าความรักและความสัมพันธ์ระหว่าง “ชาย” กับ “ชาย” ที่ปราศจากสายสัมพันธ์ระหว่างกัน (บุตร) จะสามารถดำเนินไปได้ยืนยาว และเรื่องความรักและชีวิตคู่ของเพื่อนสาวนั้นจึงมีความเป็นไปได้ยากในสังคม ทั้งไม่ได้มีการรับรองสิทธิตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตามในเรื่องของความรัก และชีวิตคู่ เป็นสิ่งที่เพื่อนสาวกลุ่มฟ้าสางที่ริมโขงมีความต้องการที่จะเสาะแสวงหา ทุกคนต้องการความรัก และการเอาใส่ใจจากบุคคลอันเป็นที่รัก แม้แต่ละคนจะกล่าวด้วยความเชื่อที่ว่า “รักแท้ไม่มีในกระเทย หรือ กระเทยไม่สามารถค้นหารักแท้ได้” แต่การแต่งงานของคุณแม่หร่องในวัย 51 ปี ได้สร้างขวัญและกำลังใจในการค้นหาความรัก และเชื่อว่าความรักมีอยู่จริง ทุกคนต่างมีความต้องการที่มีอยู่ภายใน ความต้องการความรัก ความอบอุ่น และความปรารถณาในการที่จะเป็นผู้รัก ผู้ที่ถูกรักและการได้รับการยอมรับในอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง